ยังไงผมก็ไม่ทิ้งเขา ….เป็นประโยคสั้น ๆ ที่ชายคนนี้ยํ้ากับเราไว้ เมื่อถามถึง “เหตุและผล” ที่ทำให้ผู้ชายคนนี้เลือกที่จะ เปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองทั้งหมดเพื่อที่จะอยู่ดูแลคนรักของเขามากว่า 10 ปี ซึ่งเรื่องราวและมุมมองต่อเรื่องนี้ คนที่จะมาบอกเล่าได้ดีที่สุดก็คือคนที่เป็นเจ้าของเรื่องราวนี้ คือ “ตี้-สมเจตน์ เจริญวัฒน์อนันต์” อดีตดาราและพิธีกรชื่อดังคนนี้…

“ผมเป็นคนยึดถือคำพูดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ตอนเราไปขอกับแม่เขา เราได้รับปากไว้แล้วว่าจะดูแลและรับผิดชอบเขาให้ดีที่สุด ดังนั้นเมื่อขอเขาจากแม่มาแล้ว เราจะทิ้งเขาไม่ได้ คนอื่นจะยังไงไม่รู้ แต่สำหรับผมต้องรับผิดชอบชีวิตเขา” เสียงจากอดีตพิธีกรและนักแสดงอารมณ์ดี “ตี้-สมเจตน์” เผยถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่เลือกทิ้งทุกอย่างเพื่อมาคอยดูแลภรรยาคู่ชีวิต คือ จุ๊บ-สกุณา” ที่ล้มป่วยหนัก ที่ “ทีมวิถีชีวิต” ได้ถามไถ่กับตัวเขาในช่วงเริ่มต้นการสนทนา

สำหรับประวัติชีวิตของ ตี้-สมเจตน์ เขาเล่าให้ฟังว่า เกิดและเติบโตที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเขาเป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 5 คน ใช้ชีวิตและเรียนที่หาดใหญ่ตั้งแต่เด็ก จนเมื่อสอบติดที่ พณิชยการพระนคร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร) จึงได้เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ พอเรียนจบ ปวส. เขาก็ทำงานไปด้วยเรียนต่อปริญญาตรีภาคคํ่าที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพไปด้วย และเมื่อจบปริญญาตรี เขาก็ไปลงเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกริก คณะบริหารการจัดการ

“หลังจากเรียนจบ ปวส. แผนกวิชาการโฆษณา จากพณิชยการพระนคร ผมก็มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ค่ายแกรมมี่ โดยผมได้เข้าไปฝึกงานอยู่กับทีมโลกเบี้ยว ทำให้มีโอกาสได้จับงานด้านพิธีกร จากนั้นก็เริ่มมีโอกาสได้เล่นละครอยู่หลายเรื่อง” อดีตพิธีกรและนักแสดงอารมณ์ดีเล่าถึง “จุดเปลี่ยนชีวิต” ที่ทำให้ได้เข้าทำงานในวงการบันเทิง

กับภรรยาสมัยยังเอ๊าะ ๆ

ส่วนเรื่องราว “เส้นทางความรัก” ที่ได้มาเจอกับภรรยา “จุ๊บ-สกุณา” นั้น ตี้-สมเจตน์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2549 โดยเขาพบกับภรรยาที่เคาน์เตอร์ชำระค่าโทรศัพท์ ที่ศูนย์บริการของค่ายโทรศัพท์ค่ายหนึ่งในห้างสรรพสินค้า ซึ่งวันนั้นเขาได้เข้าไปชำระค่าโทรศัพท์ที่เคาน์เตอร์ และได้เจอกับภรรยาที่ขณะนั้นนั่งประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์แห่งนั้นพอดี ซึ่งด้วยความน่ารักของภรรยา ประกอบกับตอนนั้นตัวเขาเองก็ยังโสด เขาก็เลยจีบ และได้ขอเบอร์โทรศัพท์เธอไว้ ต่อมาหลังจากนั้นเขาก็พยายามแวะเวียนไปที่ศูนย์บริการนั้นทุกครั้งที่ภรรยาเข้าประจำเคาน์เตอร์ โดยใช้ข้ออ้างว่านำโทรศัพท์มาซ่อม หรือไม่ก็มาขอเปลี่ยนโปรโมชั่น เพื่อที่จะได้เจอและพูดคุยกับเธอ

“ตอนนั้นจุ๊บเขาก็รู้ว่าเราไปจีบ แต่เขาก็ยังเฉย ๆ ทีนี้พอเราเริ่มรุกหนักขึ้น เขาก็เริ่มเปิดใจให้ และก็เริ่มศึกษาดูใจกันเรื่อยมา จนในที่สุดก็ตัดสินใจแต่งงานกันปี 2550 ช่วงปลายปี” เขาเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่ทั้งคู่ตัดสินใจจะเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยกัน พร้อมกับเล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า หลังแต่งงานก็มีลูก 2 คน โดยคนโตเป็นลูกสาว ชื่อ ชิชา-ชนัญชิตา คนเล็กเป็นลูกชาย ชื่อ ลีเจ-เจตพัทธ์ ซึ่งชีวิตครอบครัวก็ราบรื่นดี จนมาในปี 2557 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่ทั้งคู่ไม่ทันได้ตั้งตัว โดยอยู่ดี ๆ ภรรยาของเขาก็เกิดอาการเส้นเลือดในสมองตีบ จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่นานหลายเดือนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ร่างกายก็ไม่เหมือนเดิม และเขาได้ ตัดสินใจออกจากวงการบันเทิงเพื่อมาคอยช่วยดูแลภรรยา

“ปกติจุ๊บเขาร่างกายแข็งแรงดีมากเลยนะ ตอนที่เกิดเรื่อง วันนั้นไม่มีสัญญาณอะไรบอกเลยว่าจะล้มป่วย จำได้ว่าวันที่เกิดเหตุการณ์ตอนนั้นพวกเราพากันไปร้านเสริมสวย เพราะผมมีงานติดกันหลายวัน ก็กะว่าจะไปตัดผมให้ดูเรียบร้อยก่อนไปออกกองถ่าย แต่ขณะที่ผมกำลังสระผมอยู่ จุ๊บเขาก็เกิดล้มลง และไม่สามารถควบคุมร่างกายซีกซ้ายได้ ซึ่งผมช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก แต่ก็พยายามตั้งสติ โดยรีบพาภรรยาขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด“ เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ที่กลายมาเป็น “จุดเปลี่ยนของครอบครัว”

กับพี่เบิร์ด และเพื่อน ๆ ทีมโลกเบี้ยว

พร้อมเล่าต่ออีกว่า หลังจากคุณหมอได้ทำการตรวจอย่างละเอียด ก็แจ้งผลการวินิจฉัยว่า ภรรยาเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน และจะต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือด แต่พอฉีดยาไปแล้ว เลือดก็ยังไม่สามารถไหลผ่านเส้นเลือดที่ตีบได้ จนทำให้สมองบวมขึ้นไปดันกะโหลก ซึ่งคุณหมอ บอกเขาว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้อาจไปทับก้านสมอง และจะทำให้หัวใจหยุดเต้น จนทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งทางแก้ปัญหาคือ จะต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกเพื่อให้สมองพองจนสุดแล้วก็จะยุบลงเอง

“แต่คุณหมอก็บอกไว้ก่อนเลยว่า ผ่าตัดแล้วก็ไม่รับประกันว่าจะหายหรือไม่ และค่าผ่าตัดของโรงพยาบาลเอกชนนั้นก็สูง ผมจึงคิดที่จะย้ายภรรยาไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งโชคดีที่ภรรยาเคยทำงานที่สถาบันประสาทวิทยา ผมจึงทำเรื่องไปตามระบบเพื่อส่งตัวไปผ่าตัดที่นั่น ซึ่งการผ่าตัดก็เป็นไปได้ด้วยดี แต่พอผ่าตัดแล้วก็มีปัญหาอีกว่า ห้องเย็นที่จะเก็บชิ้นกะโหลกที่ผ่าแล้วยังสร้างไม่เสร็จ คุณหมอก็ให้ทางเลือกไว้ 2 ทาง คือ เลือกที่จะทิ้งไปแล้วใช้กะโหลกเทียมแทน หรืออีกทางเลือก เก็บชิ้นกะโหลกนี้ไว้ในหน้าท้องของคนป่วย ซึ่งผมกับคุณแม่ของภรรยาตัดสินใจจะเก็บกะโหลกส่วนที่ผ่าออกมานำไปไว้ที่หน้าท้องของเขา

ตี้-สมเจตน์ เล่าถึงช่วงเวลาที่ตนเองจะต้องทำหน้าที่ตัดสินใจเพื่อภรรยาสุดที่รัก พร้อมกับเล่าให้ฟังต่ออีกว่า ในช่วงที่ภรรยายังต้องรักษาตัวต่อ หลังผ่าตัดเสร็จ ภรรยาของเขาต้องนอนติดเตียงอยู่ประมาณ 6 เดือน ซึ่งต้องมีคนคอยช่วยดูแลตลอดเวลา โดยช่วงนั้นเขาก็มีงานที่รับไว้แล้วประมาณ 3-4 รายการ แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจเคลียร์งานที่ค้างไว้จนหมด แล้วตัดสินใจที่จะไม่รับงานในวงการบันเทิงเพิ่ม เพื่อออกมาดูแลภรรยากับลูก ๆ ในฐานะ “พ่อบ้านเต็มตัว”

กับตี๋อ้วน บนเวทีงานวันเกิด

“ตอนนั้นพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ก็คิดว่าน่าจะพอใช้จ่ายไปได้ระยะหนึ่ง และเมื่อตัดสินใจหยุดงานมาดูแลภรรยาและลูก ผมก็วางแผนจัดการชีวิตใหม่ทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านเต็มตัว โดยผมต้องมาเรียนรู้และลงมือทำงานบ้านทั้งหมด ทั้งทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ทำอาหาร ซึ่งช่วงนั้นกิจวัตรประจำวันคือ ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดูแลภรรยาและลูก ต้องทำกับข้าว อาบนํ้าแต่งตัวให้ลูก และพาไปส่งโรงเรียน แล้วจึงกลับมาดูแลภรรยาต่อ ก็เริ่มจากป้อนข้าว ทำความสะอาดร่างกาย ช่วยทำกายภาพบำบัด หรือพอถึงช่วงนั้นของเดือนของเขา ผมก็จะคอยเปลี่ยนผ้าอนามัยให้กับเขา จนตกเย็นผมก็ไปรับลูก ๆ และกลับมาทำกับข้าวให้ลูก ๆ กิน จากนั้นก็ไปอาบนํ้าทำความสะอาด ป้อนข้าวให้ภรรยา เพราะเขาดูแลตัวเองยังไม่ได้“ ตี้-สมเจตน์ เล่าถึงกิจวัตรประจำวันในขณะนั้นของเขาในฐานะ “พ่อบ้าน”

นอกจากดูแลด้านร่างกายแล้ว เขายังต้อง “ดูแลด้านจิตใจของภรรยา” อีกด้วย เพราะผลจากโรคที่เกี่ยวกับสมองและประสาท ทำให้ภรรยาของเขาเกิดภาวะ “โรคซึมเศร้า” และ “โรคไบโพลาร์” โดยเขาเล่าว่า ตอนที่ภรรยารักษามาใหม่ ๆ อารมณ์ในช่วงแรก ๆ ของภรรยานั้นแกว่งมาก เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ทำให้เขาก็ต้องมานั่งทำความเข้าใจและศึกษาอาการของภรรยา เพราะเขาเป็นคนดูแลจึงต้องเข้าใจอาการทั้งหมด จนพบว่า เมื่อภรรยาเกิดอาการนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ เวลาภรรยาพูด คนที่ฟังอยู่จะต้องห้ามพูดแทรก ต้องฟังให้จบ เพราะถ้าพูดแทรกขณะที่เขายังพูดไม่จบ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด ส่วนลูก ๆ ซึ่งยังเด็กอยู่ ตัวของเขาเองก็ต้องไปพูดคุยอธิบายให้ลูก ๆ เข้าใจคุณแม่ของพวกเขา อธิบายว่านี่เป็นอาการข้างเคียงของคนที่ป่วยด้วยภาวะนี้นะ

“ผมค่อย ๆ บอกลูก ๆ ว่าตอนนี้แม่มีอาการแบบนี้นะ เราต้องช่วยกันนะ เพราะผมอยากให้ลูก ๆ ได้รับรู้และเข้าใจถึงอาการของแม่เขา ซึ่งจากที่ได้กำลังใจจากคนรอบข้าง ก็ทำให้อาการของจุ๊บค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ระหว่างทางกว่าที่จะดีขึ้นนี่…ยอมรับว่าเล่นเอาเหนื่อยหนักเหมือนกัน เขาบอกเล่าไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต”

รักของพวกเขาไม่เก่าเลย

และก่อนที่จะลากันวันนั้น “ตี้-สมเจตน์” ก็เล่าทิ้งท้ายว่า หลังจากที่หยุดรับงานไปนาน เงินเก็บที่มีก็นำมาใช้จ่ายในครอบครัว เป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าใช้จ่ายของลูก ๆ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลภรรยา โดยนำมาใช้ได้ราว 2 ปีก็เริ่มหมด ซึ่งตอนนั้นก็ทำให้รู้ว่ายังมีคนที่รักครอบครัวของเขา มีญาติ ๆ เพื่อน ๆ และผู้ใหญ่ คอยช่วยเหลือ แต่ก็ยังติดลบ จนที่สุดเขาก็ตัดสินใจขายคอนโดมิเนียมที่มี เพื่อพยุงสภาพการเงิน จนในปี 2560 อาการของภรรยาเริ่มดีขึ้น และพอจะดูแลตัวเองได้บ้างแล้ว ทำให้เขาตัดสินใจกลับมารับงานอีกครั้ง เพื่อจะได้มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งก็ได้เพื่อน ๆ กับผู้ใหญ่ในวงการให้การสนับสนุนจนได้เล่นละคร 1 เรื่อง ช่วงปี 2561-2562 ทำให้พอได้เงินมาหมุน แต่พอจะเริ่มมีงานเข้ามาเพิ่ม ก็เจอ วิกฤติโควิด-19 กระหนํ่าเข้ามา…

“พอกำลังจะดี ๆ ก็มาเจอโควิด-19 อีก ทีนี้หนักเลย นิ่งเลย งานก็ไม่ได้รับทำเลย ทำให้ผมต้องหารายได้จากทางอื่น ด้วยการไปรับหมูแผ่นจากโรงงานของญาติมาขาย ถามว่ารายได้เยอะไหม ไม่เลย เรียกว่าแค่พอเลี้ยงตัว ประคองชีวิตพวกเรา 4 คนพ่อแม่ลูกให้รอดมากกว่า ถามว่าท้อมั้ย เหนื่อยมั้ย ถ้าบอกไม่ ก็คงไม่ใช่ แต่เราก็พร้อมที่จะทำและเลือกแล้วว่าจะมาอยู่ที่จุดนี้ ถ้าเหนื่อยจริง ๆ ก็เลือกใช้วิธีไปพูดระบายความท้อกับต้นไม้ โดยเราพยายามไม่คิดมาก เพราะคิดว่าแทนที่จะมาเสียแรงไปกับความท้อแท้ สู้เราเก็บแรงที่เรามีทั้งหมดนี้เอาไว้ดีกว่า

เก็บแรงไว้สู้เพื่อคนที่เรารักดีกว่า”.

‘ดูแลผู้ป่วย’ ต้อง ‘จูนหัวใจกับชีวิต’

ทาเล็บเสริมสวยให้ภรรยา

ในฐานะ “ผู้มีประสบการณ์ตรง” ทาง ตี้-สมเจตน์ ได้บอกถึง “เคล็ดไม่ลับในการดูแลคนป่วย” ว่า สิ่งที่คนที่จะมาทำหน้าที่นี้“ต้องคิดเสมอ”ก็คือ “คนป่วยอาจจะไม่เข้าใจคนที่ดูแล แต่คนที่ดูแลจะต้องเข้าใจคนป่วย” เพราะคนป่วยนั้น จะคอนโทรลตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยทางสมอง ดังนั้น คนที่ดูแลจะต้องทำความเข้าใจลักษณะอาการต่าง ๆ ให้ลึกซึ้ง และจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากที่ดูแลภรรยามานานกว่า 10 ปี เขาบอกได้เลยว่า การดูแลคนป่วยนั้น ดูแลแค่ทางร่างกายยังไม่พอ แต่ต้องดูแลที่จิตใจด้วย และแค่ให้กำลังใจก็ยังไม่พอ แต่ต้อง “เข้าใจ-รับฟัง” และที่สำคัญ “อย่าเก็บ-ต้องพูด” โดยถ้าหากสงสัยอะไรก็ต้องพูดคุยถามไถ่กัน เคลียร์กันว่าเราคิดอย่างไร เขาคิดอย่างไร เพื่อให้ทั้ง “ผู้ดูแล-ผู้ป่วย” สามารถ “จูนชีวิตได้ตรงกัน”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน