18 ปีแล้ว ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขสาพ (สสส.)ได้ริเริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา และในวันเข้าพรรษาปีนี้ (25 ก.ค.64)ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเน้นการรณรงค์รูปแบบออนไลน์  ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในภาพกว้างได้ชี้ให้เห็นว่าเหล้า และสิ่งเสพติดทั้งหลาย จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้น้อยลง ขณะเดียวยังเน้นสร้างสภาพแวดล้อมภายในชุมชนครอบครัวให้ปลอดเหล้า บุหรี่

งานเสวนาออนไลน์ โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมแห่งการปลอดเหล้าและอบายมุข โดยมีประชาคมงดเหล้าทั่วประเทศเข้าร่วมฟังทางออนไลน์กว่า 250 คน มีข้อมูลที่น่าสนใจ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาได้กลายเป็นกิจกรรมหลักที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญโดยวันเข้าพรรษาปีนี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเน้นการรณรงค์รูปแบบออนไลน์ New Normal  ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” เน้นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนจากโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ร่วมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนให้คนในครอบครัวงดดื่มเหล้าตลอด 3 เดือนในวันเข้าพรรษา ด้วยการเขียน “จดหมายสื่อรัก” จุดประกายความคิดให้พ่อแม่อยากเลิกเหล้าเพื่อลูก โดยเชิญชวนสถานศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมผ่าน www.คำพ่อสอน.com  ทั้งนี้ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 แห่ง

ความสำเร็จของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. พบว่า ในปี 2563 มีคนไทยร่วมงดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษามากถึง 12.05 ล้านคน แบ่งเป็น งดตลอด 3 เดือนเข้าพรรษา 6.95 ล้านคน งดบางช่วง 2.3 ล้านคน และไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2.8 ล้านคน สามารถประหยัดเงินค่าซื้อเหล้าได้ 6,326 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1,885 บาท/คน ซึ่งผลของการลด ละ เลิกดื่มเหล้า พบว่าประชาชนมีสภาพร่างกายดีขึ้น ร้อยละ 40.7 สุขภาพจิตดีขึ้น ร้อยละ 24.0 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกเล่า

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การรณรงค์ปีนี้ เน้นใช้อาสาสมัครชมรมคนเลิกเหล้า “คนหัวใจเพชร” กว่า 142 แห่ง เช่น เครือข่ายพระสงฆ์ เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอนักรณรงค์งดเหล้า และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ  มาร่วมกันช่วยขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการ 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์ คนเลิกเหล้าครบพรรษา สามารถปฏิญาณตนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.sdnthailand.com

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรการเรียนเพื่อสอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ถึงโทษของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศมากกว่า 4 แสนคน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันหลักสูตร

กิจกรรมพี่สอนน้องเขียนจดหมายขอพ่อแม่เลิกเหล้า โดยเด็กชั้น ป.5 และ ป.6 จะสอนน้อง ป.1 ให้เขียนจดหมายชวนผู้ปกครองให้เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับพ่อแม่ที่ตัดสินใจไม่ดื่มเหล้าวันเข้าพรรษา  เป็นกิจกรรมที่เห็นผลชัดเจนและเหมาะกับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 มาก และสามารถทำที่บ้านได้ ผู้ปกครองหลายระบุว่ามีความยินดีมากตั้งแต่ที่ลูกเขียนจดหมายมาขอไม่ให้ดื่มเหล้าก็ยังไม่กลับไปดื่มอีกเลย ทุกอย่างที่ดีเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีความสุข เป็นความประทับใจมากนางกาญจนา สิริรัตน์ชัยกุล ครูผู้สอนโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า จากโรงเรียนวัดโสมนัส กรุงเทพฯ บอกเล่า

ด้าน รศ.พญ.รัศมน  กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลว่า สถานการณ์นักดื่มหน้าใหม่ในเด็กและเยาวชนยังน่าเป็นห่วง จากผลสำรวจในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และผู้ปกครองที่ใกล้ชิดนักเรียน จำนวน 15,578 คน เปรียบเทียบระหว่างปี 2562-2563 พบนักเรียนที่เคยทดลองดื่มหรือจิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึงร้อยละ 47.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปี 2562 คิดเป็นการเริ่มต้นดื่มในเด็กนักเรียนประมาณเฉลี่ยปีละร้อยละ 21 นอกจากนี้นักเรียนที่เคยดื่มอย่างน้อย 2 หน่วยมาตรฐาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.4 จากเดิม ร้อยละ 4 ขณะที่การดื่มแบบเมาหัวราน้ำ (Binge) คือดื่มไม่ต่ำกว่า 4 หน่วยมาตรฐานต่อครั้ง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์นักดื่มหน้าใหม่ในเด็กและเยาวชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อย่างน่าตกใจ ส่วนหนึ่งมาจากการที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และญาติพี่น้องหยิบยื่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นครั้งแรกรศ.พญ.รัศมน ระบุ 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอาชญากรรม หรืออุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้ามีความตระหนักรู้ การปลูกฝังกับกลุ่มเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ และในสังคมพุทธเทศกาลเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ควรรักษาศีล เพราะการดื่มเหล้าเท่ากับเบียดเบียนร่างกายตัวเองทำลายสุขภาพ