“ผู้ชาย“ ที่มี “อายุเกิน 50 ปี” โดยเฉพาะผู้ที่ “มีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม” อยู่ก่อน “โอกาสร้ายในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมีความเป็นไปได้สูง” มากกว่าคนทั่วไป ทางที่ดีจึงควรไปรับการ “ตรวจเลือด” เพื่อให้ทราบ “ค่า PSA” หรือค่า “Prostate Specific Antigen” ที่หมายถึง “ค่าบ่งชี้มะเร็ง” ซึ่งจะเท่ากับเป็นการ “ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก” เอาไว้ก่อน …นี่เป็นใจความส่วนหนึ่งจากการให้ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับ “มะเร็งที่เป็นเฉพาะในบุรุษ-มะเร็งต่อมลูกหมาก” โดย นพ.สิทธิพร ศรีนวลนัด หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งผู้เข้าข่ายเสี่ยงก็น่าจะได้ทำตามคำแนะนำ และยุคนี้ก็ไม่ต้องหวั่นมากกับโรคนี้…

ปัจจุบัน “เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวล้ำ” กว่าอดีต…

การ “สู้มะเร็งลูกหมาก” นี่ก็ “พัฒนาทั้งตรวจ-รักษา”

ทั้งนี้ การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่าง ๆ นั้นมีอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันนี้ ซึ่งนอกจากกรณี “โควิด-19” ที่แวดวงการแพทย์กำลังพยายามคิดค้นวิธีสู้กันเต็มกำลังและก็สู้มันได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว กับการสู้โรคร้าย
เดิม ๆ ก็มีเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าทยอยออกมาเพิ่มพลังให้แพทย์ “ปลดล็อกอุปสรรคขัดขวางการตรวจ-รักษา” ให้คลี่คลายลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ หรือบางกรณีใครจะเรียกว่า “ขั้นเทพ” ก็ดูจะไม่เกินเลยนัก และล่าสุดก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้แพทย์ช่วยผู้ป่วย “พิชิตมะเร็งต่อมลูกหมาก” ได้ดีกว่าในอดีตมาก ดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาอัพเดทให้ได้ทราบกันในวันนี้ ซึ่งเริ่มจาก “การตรวจค้นเซลล์มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก” ก่อนจะไปถึง “การจัดการเลาะต้นตอปัญหาออกให้พ้นจากผู้ป่วย โดยที่เส้นประสาท รวมทั้งเส้นเลือดโดยรอบ ยังอยู่ครบ” …จากเดิมในอดีตที่การตรวจคือ “สุ่มเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ” โดยแพทย์จะสอดเข็มเข้าไปเก็บชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก โดยที่ “ไม่เห็นเป้าหมายต้องสงสัย” ซึ่งเมื่อส่งตรวจพิสูจน์ “อาจไม่พบว่าเป็นเนื้อร้าย…ทั้งที่มีเนื้อร้ายอยู่!!”

ถ้าเป็นเช่นนี้…ผู้ป่วยก็จะ “เสียโอกาสในการรักษา” โดยที่ “เซลล์มะเร็งจะลุกลามต่อไป” กว่าผู้ป่วยจะได้รับการตรวจซ้ำ และพบเซลล์มะเร็ง ไปจนถึงขั้นตอนการผ่าตัดรักษา “ระบบปัสสาวะและสุขภาพก็จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ”…

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปัญหาดังที่ระบุมานี้ได้รับการคลี่คลายด้วย “อุปกรณ์การแพทย์ที่ก้าวล้ำนำสมัยด้วยเทคโนโลยี” ซึ่งแพทย์จะใช้ร่วมกัน 2 อย่าง โดยอุปกรณ์อย่างแรกคือ… “MRI 3 Tesla” หรือ “เครื่องสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความคมชัดสูง 3 เทสลา” ที่ใช้สำหรับตรวจสแกนต่อมลูกหมากของผู้ป่วย เพื่อให้เห็นว่ามี “ก้อนเนื้องอก” อยู่ภายในต่อมลูกหมากที่บริเวณใด เป็นการ “ชี้เป้า” เอาไว้…ก่อนจะเชื่อมโยงภาพเป้าหมายไปยังอีกอุปกรณ์

อุปกรณ์การแพทย์อีกอย่างคือ… “MRI Fusion” หรือ “เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงให้ภาพ 3 มิติ” หรือ “อัลตราซาวด์ 3 มิติ” ที่จะส่งคลื่นความถี่สูงไปสแกนที่ตำแหน่งเป้าหมาย และ ปรากฏภาพ 3 มิติขณะทำการตรวจออกมาแสดงให้แพทย์เห็นตำแหน่งก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากอย่างชัดเจน พร้อม “ล็อกเป้า” กำหนดจุดให้แพทย์สามารถแทงเข็มเข้าไปทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาตรวจพิสูจน์ได้อย่างถูกที่ถูกทาง อย่างแม่นยำกว่าในอดีต

หลังเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อตรวจพิสูจน์ในห้องทดลอง…ก็จะทราบผลยืนยันที่มั่นใจได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ตรวจชิ้นเนื้อพบว่าเป็น “มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก” ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว-อย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันแพทย์ก็สามารถจะ “ขุดรากถอนโคนมะเร็งร้าย” ออกพ้นตัวผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำด้วย “ระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” โดยที่หลังผ่าตัดแล้วก็จะไม่มีปัญหาน่ากังวล-น่าหดหู่สำหรับผู้ป่วยบุรุษ …เหล่านี้คือ “อัพเดทล่าสุด” เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแพทย์ในกรณีนี้

นี่คือศักยภาพทางการแพทย์ในปัจจุบัน ในการตรวจ-รักษาผู้ป่วยให้มีโอกาสพ้นพิษภัยและอันตรายจาก “มะเร็งที่เป็นเฉพาะในบุรุษ” ได้สะดวกรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์แบบ “ครบวงจร” ตั้งแต่ “ตรวจ…ไปจนถึงกำจัด”

เทคโนโลยีนี้วันนี้ในไทยเราก็มีใช้แล้ว โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ เช่น โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ, โรงพยาบาลรามาธิบดี, บางโรงพยาบาลในจังหวัดใหญ่ ๆ และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็นำเข้ามาแบ่งเบาภาระภาครัฐในการ “แก้ปัญหามะเร็งต่อมลูกหมาก” ช่วยให้ “ชายไทยกลุ่มเสี่ยง” เข้าถึงการตรวจ-รักษาได้สะดวกรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น โดย โรงพยาบาลธนบุรี ก็นำเทคโนโลยีก้าวหน้านี้มาใช้ประโยชน์ในการช่วยผู้ป่วยเช่นกัน …ทั้งนี้ ก็ต้องยกนิ้วให้การคิดค้นอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับภัยจากโรคร้าย และต้องชมการตัดสินใจของคณะผู้บริหาร โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรัฐอื่น ๆ และโรงพยาบาลเอกชน รวมถึง โรงพยาบาลธนบุรี ที่เป็น “เสือปืนไวสู้มะเร็งต่อมลูกหมาก” นำเทคโนโลยีที่เปี่ยมประสิทธิภาพในการตรวจรักษาครบวงจรมาเพิ่มศักยภาพให้วงการแพทย์ไทยยิ่งขึ้นอีก ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่มะเร็งชนิดนี้ที่เคยทำลายชีวิตชายไทยมานานจะตกอันดับเป็นเสมือน “โรคประจำถิ่น” ชนิดหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ทาง นพ.สิทธิพร แพทย์ผู้ชำนาญการท่านหนึ่งซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการตรวจ-รักษาผู้ป่วยด้วยโรค “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ได้มี “คำแนะนำเพิ่มสำหรับกลุ่มเสี่ยง” ไว้ด้วยว่า… หากพบว่าค่าบ่งชี้ “ค่า PSA สูงถึง 4 หรือสูงกว่า” ก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงการ “เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ” เพื่อการ “ตรวจพิสูจน์ให้ทราบแน่ชัด” ต่อไป…

เพื่อให้ “เท่าทันปัญหาจากต่อมเจ้าปัญหา” นี้

และเพื่อให้ “เท่าทันในการสู้โรคนี้ให้พ้นภัย”.