เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นที่คึกคักกันไปพอสมควร กับการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ภายหลังจากชาว กทม.ไม่ได้เลือกตั้งเก้าอี้พ่อเมืองมากว่า 7 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายคือเลือกตั้งที่แข่งขันระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากค่ายเพื่อไทย จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ถูกสั่งสอบเรื่องราคาไฟประดับเทศกาลของ กทม. และถูกคำสั่ง คสช.ปลด โดยให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ว่าฯ กทม. ตัวจริง โดยขณะนั้นรัฐบาลว่ามีความจำเป็นต้องตั้ง เนื่องจาก กทม.ต้องจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ 9

ต่างคนต่างจับเลขเบอร์กัน ก็บอกว่าเบอร์ตัวเองเป็นเลขมงคล อย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคก้าวไกล ได้เบอร์ 1 อันนี้มันเลขดีอยู่แล้ว อยู่หัวกระดาษกาง่าย นายสุชัชวีร์ สุวรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 4 ซึ่งคนจีนไม่ชอบ บอกว่าไปพ้องเสียงกับ “ซี้” ที่แปลว่าตาย แต่พี่เอ้เขาว่าเขาดีใจ เพราะ 4 มันมีหลายความหมายสำหรับเขา อย่างเช่น อริยสัจ 4 คือทางดับทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง 4 ห้องหัวใจที่พี่เอ้ยกให้คนกรุงเทพฯ หรือหมายถึงความเป็นลูกพระจอมเกล้า รัชกาลที่ 4 ก็ได้ เพราะพี่เอ้เป็นศิษย์เก่า และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ ได้เบอร์ 6 ก็บอกว่าเป็นเลขมงคลของตัวเอง คือทำงานมา 5 ปี เลข 6 เป็นสัญญาณดีๆ ว่าจะได้ทำงานเข้าสู่ปีที่ 6 ข้างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม สมัครในนามอิสระ ได้เบอร์ 8 ก็บอกว่าเลขไหนมันก็เลขมงคลเท่านั้น เลข 8 เป็นสัญลักษณ์ของความไม่สิ้นสุด (infinity) หมายถึงการเข้ามาทำงาน ส่วน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ ได้เบอร์ 7 ก็ว่าเลข 7 เป็นเลขมงคลของตัวเอง

ที่ฮือฮาแบบตลกร้ายคือ “จั๊ม-สกลธี ภัททิยกุล” ลงในนามอิสระ จับได้เบอร์ 3 ซึ่งไปพ้องกับชื่อเรียกของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่ถูกเรียกว่า “3 กีบ” แล้ว “จั๊ม” ก็เป็นแกนนำ กปปส. เก่าเสียด้วย ทำให้จะชูสามนิ้วแบบหนัง hunger game เหมือนพวกสามกีบก็กระไรอยู่ ..เจ้าตัวเลยแก้เกมโดยการทำมือเป็นเครื่องหมายโอเคแทน ในความหมายประมาณว่า มีอะไรก็โอเค ทำได้ แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเหน็บไปพอท้วมๆ ว่า เบอร์สามไม่กล้าชูสามนิ้ว.. ส่วน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย เป็นคนที่เป็นที่จับตาคนเดียวที่ได้หมายเลข 2 หลักคือเบอร์ 11 ซึ่งก็นับว่าเป็นเลขที่ไม่ได้ขี้เหร่เท่าไร

ตลกร้ายต่อมาคือ หลังจากบิ๊กวินประกาศลาออกจากผู้ว่าฯ กทม. เพื่อลงสมัครทำงานอีกสมัย ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้น ขับรถไปตามเส้นวิภาวดี เส้นประชานิเวศน์ พบป้ายของบิ๊กวินติดแทบจะทุกเสาไฟฟ้า จนมีบางจุดที่มีเพจเอามาโพสต์ประจานว่าจะติดเยอะติดถี่ไปถึงไหน ยังกะเด็กกลัวถูกแย่งที่เล่น ร้อนถึงตัวบิ๊กวินเองต้องให้ทีมงานไปเอาออกซะบ้าง หน้าม้านไปพอท้วมๆ ที่ชาวบ้านนินทาเอาว่าเคยเป็นผู้ว่าฯ เสียเปล่า ไม่สนใจเรื่องทัศนวิสัยเมือง เรื่องความปลอดภัยที่ป้ายจะบังการมองเห็นทางการจราจรเลย ไปจนถึงไม่สนใจเรื่อง พ.ร.บ.ความสะอาด

การเล่นป้ายเยอะๆ มันดูเหมือนเป็นการหาเสียงแบบเก่า ขณะที่ชัชชาตินั้นประกาศไม่ใช้ป้ายเยอะ ทำนองว่าไม่ต้องการให้เป็นภาระคนกรุงเทพฯ ไม่ต้องการให้เสียทัศนวิสัย ไม่ต้องการให้เป็นภาระเรื่องขยะ และถ้าจะต้องใช้พวกวัสดุอะไรต่างๆ อย่างไวนิล โปสเตอร์ ก็ต้องเป็นของที่ใช้ซ้ำได้ หรือรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นการหาเสียงในแนวคิดรักเมือง ไม่ต้องการให้มีการเพิ่มขยะไปมากกว่านี้ แต่จะเน้นการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียแทน

และที่สำคัญนายชัชชาติเปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯ มานานแล้ว ทำให้การเสนอแนวคิดอะไรต่อเนื่องมาเป็นระยะ ยิ่งบอกว่า “หาเสียงแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม”ยิ่งได้ใจคนกรุง โดยเฉพาะพวกอายุยังไม่เท่าไร หรือพวก Gen.Z ซึ่งเป็น voter (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) รอบแรก เพราะพวกนี้จะตื่นตัวกับความเป็น “พลเมืองโลก” ตื่นตัวกับปัญหาของโลก โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ขยะ โลกร้อน เป็นเรื่องที่พวกเขาใส่ใจและอยู่ในกระแส อย่างการเคลื่อนไหวของเด็กหญิงชาวสวีเดน เกรตา ธุนเบิร์ก เกี่ยวกับเรื่องลดโลกร้อนก็ดังไปทั่วโลก ว่า “เราต้องส่งโลกที่อุดมสมบูรณ์ให้คนยุคต่อๆ ไป”

หลายคนเขาบอกว่า “ชัชชาติหาเสียงได้ดูมีระดับที่สุด” นอกจากเน้นสิ่งแวดล้อม แล้วยังไม่แสดงท่าทีแบบว่าจะพุ่งชน จัดการอะไรแรงๆ  เพียงแต่บอกว่า กรุงเทพฯ มีปัญหาอะไรบ้าง และจะทำงานเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะนโยบายเส้นเลือดฝอย คือ ต้องดูแลจุดเล็กๆ ที่มีปัญหาทั่วกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องทางเท้าไม่ดี การระบายน้ำไม่ดี การจัดเก็บทำลายขยะ และไม่สนใจดราม่า ไม่ตอบโต้สิ่งที่ขั้วที่ไม่ชอบตัวเขาเอาไปขยายความ เรื่องหนึ่งที่ชัชชาติถูกโจมตี คือเรื่องบิดา พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ มีความเกี่ยวข้องกับเหตุสลายความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เมื่อพูดถึงนายชัชชาติแล้ว ก็เป็นที่น่าจับตาว่า จริงๆ แล้วได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะก็เป็นลูกหม้อเก่าถึงขนาดเคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค แต่เจ้าตัวยืนยันว่าเป็นอิสระจริงๆ ที่ต้องการความเป็นอิสระเพื่อสามารถดึงคนมีความรู้ความสามารถเครือข่ายอื่นๆ มาช่วยงานได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ คือการที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเหมือนกับแยกออกมาจากพรรคเพื่อไทย กลายๆ…อยู่ๆ ก็ประกาศส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แบบฟ้าแลบ คือ น.ต.ศิธา ทิวารี ชนิดที่ว่าเปิดตัวก่อนล่วงหน้าไม่กี่วันแล้วสมัครเลย ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ ก็เป็นประธานภาค กทม. เก่าของพรรคเพื่อไทย ทำให้ถูกมองว่า “ถ้าชัชชาติใช้ฐานเสียงเพื่อไทย จะถูกฐานเสียงของคุณหญิงสุดารัตน์ตัดคะแนนไปให้ น.ต.ศิธา หรือไม่?”

น่าสนใจต่อมา คือการออกอาการของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ก็รู้กันว่า มีสายสัมพันธ์ที่ดียาวนานกับพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดในรายการคลับเฮาส์ ทำนองว่า “มีคนออกจากพรรคผมไปตั้งพรรคใหม่ แล้วไปบอกไฮโซทั้งหลายว่าผมไม่เอาเจ้า แถมยังบอกใครๆ ให้เลือกพรรคเขาเพราะเป็นสาขาของพรรคเพื่อไทย” ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คืออาการควันออกหูที่ลูกน้องเก่าอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ ดึงคนจากพรรคเพื่อไทยไป หารคะแนนทั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคตหรือไม่? แต่ก็ปักใจไม่ได้หรอกว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ อาจหมายถึงคนที่ออกไปตั้งแต่สมัยพลังประชาชนแตก หรือหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ยึดอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้

ข้าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 6 กลุ่มรักษ์กรุงเทพนั้น ก็ไม่รู้ว่าโดนชัชชาติเหน็บเอาหรือเปล่า ด้วยคำพูดทำนองว่า “ถ้าจะเลือกตั้งเพื่อแค่สานงานต่อ จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปทำไม” ทีมกองเชียร์ชัชชาติก็ชอบเพราะอยากเห็นนโยบายอะไรใหม่ๆ บ้าง ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นเก่า แต่พยายามเอาลูกชาย “หมวดเอิร์ธ” ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง มาช่วยทำงานนโยบายคนรุ่นใหม่ ก็ดูน่ารักดีเวลาหาเสียงไปกันพ่อลูก

อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน และ ผู้คนกำลังยืน

บิ๊กวินก็ถูกจับตาอยู่ว่า “ตกลงแล้ว ท้ายสุดพรรคพลังประชารัฐ (หรือนายกฯ) หนุนอยู่ใช่หรือไม่?” คนเขาไปสังเกตจากการที่นายกฯ เริ่มลงพื้นที่ในกรุงเทพฯ แบบไปส่วนตัว ดูตลาดมหานาค ดูคลองโอ่งอ่างอันเป็นความภาคภูมิใจของบิ๊กวิน แล้วพูดว่า “ไม่อยากให้บ้านเมืองกลับไปที่เก่า ไม่อยากให้กรุงเทพฯ กลับไปที่เดิม ไร้ระเบียบรกรุงรัง ซึ่งมันก็ดีขึ้นมาตั้งเยอะแล้วไม่ใช่หรือ ก็ทำกันต่อไป” ก็สอดคล้องกับสโลแกนหาเสียงของบิ๊กวินที่ว่า “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” ซึ่งนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งข้อสังเกต

และแสดงความเป็นห่วงทำนองว่า จะทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะไม่ใช่การเลือกคนมาทำงาน แต่เป็นการต่อสู้กันของขั้วการเมืองระหว่างเอากับไม่เอาบิ๊กตู่แทน ซึ่งการที่บิ๊กตู่ลงพื้นที่ ก็ระวังจะเป็นแรงสะท้อนตีกลับให้คะแนนบิ๊กวินตกลงได้เช่นกัน เพราะภาพลักษณ์ของบิ๊กตู่ (และ 3 ป.) ก็ไม่ได้ดีในสายตาชาวกรุงเท่าไรนัก

อันว่าโครงการของบิ๊กวินที่เจ้าตัวภูมิใจ คือเรื่องการทำคลองสวยน้ำใส คลองโอ่งอ่าง คลองเปรมประชากร คลองผดุงกรุงเกษม และล่าสุดมาดูคลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อให้สามารถใช้เป็นช่องทางเดินเรือในเขตประเวศ ช่วยในช่วงการจราจรแออัดได้อีกช่องทางหนึ่ง และบิ๊กวินเองภูมิใจผลงานเรื่องสวนสาธารณะ คือการปรับปรุงสวนสาธารณะเช่น สวนป่าเบญจกิตติ และโครงการที่ถูกจับตามองมากเพราะใช้งบเยอะคือการปรับปรุงสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี กับปรับปรุงสวนลุมพินี ว่าจะออกมาสวยอลังการขนาดไหน

แต่ยังไม่เห็นนโยบายเรื่องช่วยค่าครองชีพของบิ๊กวินชัดเจนนัก ขณะที่ทาง ชัชชาติ นั้นลงพื้นที่ ระบุว่า กทม. มีตลาดในการดูแลทั้งสิ้น 13 แห่ง รวมจำนวนแผงค้ากระจายในเขตต่างๆ กว่า 20,000 แผงค้า ดังนั้น กทม. สามารถพัฒนาตลาดให้เป็นพื้นที่สร้างโอกาสทางการค้าให้คนกรุงเทพฯ ได้ เช่น ขยายเวลาเปิด-ปิดตลาด เปิดแผงค้าเพิ่มเติม พัฒนาแอพพลิเคชั่นส่งสินค้าถึงบ้าน และลดค่าเช่าแผงค้าจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

น.ต.ศิธา ก็ลงพื้นที่ตลาด อ.ต.ก. พบว่า การทำมาค้าขายยังไม่ดีเช่นกัน โดยชูนโยบายที่อิงนโยบายพรรคคือ “กองทุนคนตัวเล็ก” คือการให้เครดิตประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน กู้ได้ตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยกระบวนการสินเชื่อที่แตกต่างจากสถาบันการเงินทั่วไป จะช่วยให้คนตัวเล็กตั้งตัวได้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้

เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ก็สำคัญมาก อยากเห็นนโยบายของผู้สมัคร และมีเสียงกระซิบจากภาคธุรกิจกลางคืนว่า ขณะนี้เศรษฐกิจซบเซามาก มีอะไรก็ขอให้ผู้ว่าฯ กทม.เหลียวแลกันบ้าง.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”