มาถึงวันนี้เหลือเวลาอีกราวสัปดาห์เดียวก็จะเข้าสู่บรรยากาศเทศกาล “สงกรานต์-ปีใหม่ไทย” อีกครั้งแล้ว ซึ่งแม้ว่าในประเทศไทยก็ “ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 โอมิครอนในระดับสูง” แต่จากการที่รัฐมีนโยบายผ่อนคลายการคุมเข้มโควิด ก็คงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังเตรียมตัวจะ “เดินทางท่องเที่ยว” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือหลาย ๆ คนที่สามารถพักกิจการอาชีพหรือลางานล่วงหน้าเพิ่มได้ ก็อาจจะเริ่มกดปุ่มเดินทางกันตั้งแต่วันสองวันนับจากนี้แล้วด้วยซ้ำไป ด้วยความมั่นใจว่ารัฐบาลจะ “ไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้ม” เหมือนกับช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ด้วย 2 เหตุผลสำคัญคือ…

ไทยจำเป็นต้อง “ใช้ท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจ”

และไทย “จะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น”

ทั้งนี้ หากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2565 นี้ประเทศไทยมีการผ่อนคลายการคุมเข้มโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีการกลับไปกลับมา หากประเทศไทยไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มเหมือนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีสองปีก่อน บรรยากาศสงกรานต์ปีใหม่ไทยในปีนี้ก็คงจะกลับมาคึกคักมากขึ้นในระดับหนึ่ง…แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิม ๆ ในอดีตก็ตาม ซึ่งก็คงจะดีถ้าจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจ ทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน จังหวัด ภาค ประเทศ ได้กระเตื้องขึ้นจากเดิมสักหน่อย โดยที่ “ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่-ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มจากการติดเชื้อโควิด” ไม่ได้เป็นไปในรูปแบบ “พุ่งพรวดสูงลิ่ว!!” หลังผ่านสงกรานต์??

แต่…จะอย่างไรก็ตาม กับการเดินทางช่วงที่มีวันหยุดยาว ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ว่าจะเพื่อกลับสู่ภูมิลำเนา และโดยเฉพาะเพื่อการท่องเที่ยว ในเมื่อ “สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่สงบ” เช่นนี้…ดังนั้น “ก็ยังคงต้องใส่ใจสนใจหลักลดความเสี่ยง-หลักความปลอดภัย” ไว้ให้มาก ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อน “คำแนะนำของกรมควบคุมโรค” ให้พินิจกันไว้…ดู ๆ ไว้ใช่ว่า…กับ “หลักท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย” จะเดินทางท่องเที่ยวก็ “น่านำไปพิจารณาปรับใช้”…

ข้อมูลคำแนะนำดังกล่าวนี้มาจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ที่ลงเผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ผ่านบทความชื่อ “เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพในยุคโควิด-19” โดยสำหรับ “ข้อแนะนำ” นั้น หลัก ๆ มีดังต่อไปนี้…

เริ่มจาก…“ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารการระบาด” จากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค https://covid19.ddc.moph.go.th หรือเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของ ศบค. ก็ได้ …ซึ่งข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโควิดนี่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอเสริมไว้ด้วยว่าสามารถช่วยเรื่องวางแผนท่องเที่ยวโดยไม่เสี่ยงโควิดได้มาก และข้อแนะนำถัดมา…“ควรศึกษามาตรการป้องกันควบคุมโรคของจังหวัดที่จะเดินทางไปซึ่งอาจมีข้อกำหนดเฉพาะ เช่น การปิดสถานที่ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

“จัดเตรียมข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ” อย่างเช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือศูนย์บริการข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว กรณีเดินทางท่องเที่ยวแล้วเกิดการเจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉินขณะเดินทางท่องเที่ยว, “กลุ่มเสี่ยงสูงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการเข้าไปในพื้นที่แออัด” โดยเฉพาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ โดยนอกจากโควิดแล้ว…ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ยังควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย

ถัดมาเกี่ยวกับ ข้อแนะนำเที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพในยุคโควิด-19 คือ…“เลือกใช้บริการสถานที่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน” ซึ่งควรจะต้องเป็นสถานที่เปิด สถานที่มีระบบถ่ายเทอากาศดี และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิด สถานที่ที่มีระบบอากาศไม่ดี หรือพูดง่าย ๆ ควรเลือกใช้บริการสถานประกอบการที่ปลอดภัย, “ควรเลือกเดินทางท่องเที่ยวในวันเวลาที่ไม่แออัด” ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงในการที่จะได้รับเชื้อโควิดจากผู้อื่นได้มากขึ้น

“หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการรวมกันของคนหมู่มาก” ข้อแนะนำการท่องเที่ยวข้อนี้ก็ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดและสำหรับการจะทำกิจกรรมที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น ดำน้ำ ล่องแก่ง ปีนเขา ฯลฯ ควรมีการตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ ควรตรวจดูเรื่องการดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จะใช้ หรือควรทำความสะอาดทุกครั้งก่อนการใช้งาน 

และ…“ลงทะเทียนทุกครั้ง” เมื่อเข้า-ออกสถานที่ต่าง ๆ ปฏิบัติตามระเบียบสถานที่นั้น ๆ จดบันทึกวันเวลาสถานที่ที่ไปตลอดการเดินทาง เพื่อประโยชน์ในกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่…กับข้อนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอเสริมว่าสำคัญ รวมถึง“หมั่นดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล” ล้างมืออยู่เสมอด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป โดยเฉพาะก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ รวมถึงทุกครั้งหลังไอจาม, “พกเจลแอลกอฮอล์เสมอ” ขณะเดินทางท่องเที่ยว และเตรียมหน้ากากอนามัยไปให้เพียงพอ…ซึ่ง ณ ที่นี้ก็ขอร่วมย้ำว่ามีพกมีเตรียมแล้วก็อย่าละเลยการใช้ ดังที่ข้อแนะนำก็มีด้วยว่า…“สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา” ทุกครั้งเมื่อออกจากที่พักหรือขณะที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

ทั้งนี้ อีกข้อแนะนำที่อาจขัดใจผู้ที่อยากออกเดินทางท่องเที่ยว…แต่ก็เป็นอะไรที่จำเป็น เพื่อความปลอดภัย คือ…“งดหรือเลื่อนการเดินทาง” กรณีที่มีไข้ หรือไม่สบาย และสุดท้ายสำหรับข้อแนะนำจากบทความ “เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพในยุคโควิด-19” ที่มีการเผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค คือ…หลังกลับจากเดินทางท่องเที่ยว “พบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ” พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางท่องเที่ยวให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษา

เหล่านี้คือคำแนะนำ “เที่ยวสงกรานต์โดยเลี่ยงโควิด”

สำหรับผู้ที่หมายมั่นว่า “สงกรานต์ปีนี้จะเที่ยวแน่

แต่…ก็ต้อง “อย่าให้ตนเองเสี่ยง!!-ผู้อื่นเสี่ยง!!”.