โดยในวันนี้กลายเป็นผู้สมัครในนามอิสระ ร่วมชิงเก้าอี้ผู้นำเมืองหลวง “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับนักการเมืองหนุ่มถึงความท้าทายต่างๆในศึกดังกล่าว

โดย “สกลธี” เปิดฉากกล่าวว่า ด้วยประสบการณ์จากงานในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นคนลงไปดูในรายละเอียดหรือผลักดัน จึงได้เห็นปัญหาหรือข้อติดขัดต่างๆ และด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็น ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ต้องลงพื้นที่ไปพบชาวบ้าน ทำให้ได้รับฟังข้อมูลต่างๆ จากเบื้องล่างขึ้นมาเยอะ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ตัวเองได้เรียนรู้หลายอย่าง สำหรับการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ผมคิดไว้นานแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ยังมีหลายเรื่องที่ผมอยากทำและยังทำไม่จบ แต่เมื่อผมทำเรื่องเหล่านี้เสร็จ จึงตัดสินใจลาออกมาลงสมัคร

@ มีนโยบายใดที่โดดเด่นกว่าของผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างไร

เรื่องที่โดดเด่น และเป็นสิ่งแรกที่ผมจะทำถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ รื้อระบบ ปรับการจัดการงบประมาณของ กทม.ที่มีอยู่มาก ราว 80,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักไป 40 เปอร์เซ็นต์สำหรับเรื่องบุคลากร และหักค่าหนี้ผูกพัน ทำให้งบประมาณในแต่ละปีเหลือประมาณ 20,000 ล้านบาทบวกลบ ซึ่งเงินนี้ต้องดูทุกอย่างในกรุงเทพฯ และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้เงินตรงนี้ถูกหักอีก ทำให้การแก้ปัญหาหรือการดำเนินการต่างๆ ติดขัด ผมจึงมองว่านอกจากจะใช้เงินแล้ว ต้องหาเงินเข้ากทม.ด้วย โดยผมมีหลายวิธี อาทิ เรื่องขยะ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.เสียเงินกับเรื่องขยะในแต่ละปี 3,000-5,000 ล้านบาท ทั้งเรื่องรถขยะ ซื้อถังขยะ ค่าจ้างฝังกลบ ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้ให้เอกชนทำ กทม.จะประหยัดเงินได้ และเรื่องการให้สิทธิต่างๆ เช่น อาจให้เอกชนมาเดินรถ หรือการทำโฆษณา จะทำให้กทม.ได้เงินจากส่วนนั้น

นอกจากนี้งบประมาณต่างๆ ต้องมีการบริหารให้เท่าเทียม มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตัดโครงการใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็น แล้วเลือกทำโครงการที่จำเป็น และให้กระจายไปตามเขตต่างๆ ซึ่งถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ กทม.จะมีเงินเพิ่ม สามารถทำโครงการต่างๆได้มากขึ้น ช่วยกระจายงบประมาณแก่สำนักงานเขตนำไปแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ ต้องเป็นโครงการที่ทำแล้วคนรุ่นหลังได้ใช้ต่อ อีกทั้งต้องหามาตรการเสริมระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ เพื่อช่วยป้องกันการทุจริต

สิ่งใดที่จะช่วยเรียกคะแนนจากผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร

ผมขายความเป็นผู้มีประสบการณ์ แม้ผมอายุ 44 ปี แต่มีประสบการณ์ทางการเมืองที่เคยเป็นส.ส. และในงานจากที่เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. รวมๆกันแล้ว 15-16 ปี ผมมีความพร้อม สู้เต็มที่ เพื่อให้ได้คนทุกวัยมาลงคะแนนให้ แต่เราพบว่ากองเชียร์ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 40 ปีขึ้นไป และยังมีช่องว่างในกลุ่มคนอายุ 18-25 ปี คนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก จึงต้องอาศัยช่องทางสื่อโซเชียล เพราะกลุ่มนี้มักดูกระแส ดังนั้น นอกจากการเสนอนโยบายและการขายความเป็นตัวเองแล้ว เราต้องมีเรื่องที่เป็นกระแสหรือมีความทันสมัยด้วย

@ การที่ลงครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นตัวตัดคะแนนทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และคุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์

การที่ผมลงมาครั้งนี้ตัดคะแนนกันแน่นอน เพราะมาจากพื้นฐานเดียวกัน แต่คนกรุงเทพฯมีวิธีที่ฉลาดในการพิจารณาเลือกคน และทุกอย่างพลิกได้เสมอ  ส่วนการถูกเปรียบเทียบย่อมมีอยู่แล้ว แต่ผู้สมัครทุกคนมีความแตกต่าง อย่างคุณสุชัชวีร์เป็นวิศวกร เป็นนักวิชาการ แต่ไม่เคยบริหาร ขณะที่อดีตผู้ว่าฯ อัศวิน บริหาร กทม.มานาน หรืออาจมีข้อจำกัดอื่นๆ ส่วนผมเคยบริหารงาน กทม.มาเช่นกัน แต่ก็ได้ในเรื่องของอายุ และมีความคิดทันสมัย

@ จากภาพอดีตแกนนำ กปปส.ที่ยังติดตัวอยู่ ส่งผลต่อการแข่งขันครั้งนี้แค่ไหน

มีทั้งแง่บวกและลบ อยู่ที่ว่าใครจะมองอย่างไร ในวันที่เราออกมานำตอนนั้นมีคนมาร่วมนับล้านคน อีกทั้ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้ว และมีเรื่องของคดีต่างๆตามมา ก็ทำให้ได้รู้กันแล้วว่าที่เราออกมาวันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรามั่นใจในอุดมการณ์ แต่การชุมนุมย่อมทำให้คนในบ้านเมืองไม่ได้รับความสะดวกสบาย แต่คนที่ชอบเรา ถึงอย่างไรเขาก็ยังเชียร์ 

ส่วนคนที่ไม่ชอบเรา แม้เราพ้นจาก กปปส.แล้วมาทำงานให้ดีแค่ไหน เขาก็ยังไม่ชอบเรา ตอนนี้ยังมีการนำเรื่องเดิมๆมาโจมตีผมพอสมควร แต่ผมไม่ได้กังวล ไม่ปิดบังหรือจะไปลบอดีต อะไรก็ตามที่ผมเคยโพสต์ไว้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ยังอยู่ แม้ใครนำมาโจมตีตอนนี้ ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ขออย่าทำข้ามเส้นจนกลายเป็นการด้อยค่ากัน

มองอย่างไรต่อเสียงวิจารณ์ว่าคนที่เคยเป็นแกนนำม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ แต่วันนี้กลับมาเสนอตัวเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

บริบทไม่เหมือนกัน วันนั้นเราต่อสู้กับสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง ทั้งนิรโทษกรรมสุดซอย การเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่เมื่อมันจบบทบาทตรงนั้นแล้ว เราได้เดินไปสู่การทำงานในอีกบทบาท และวันนี้ผมขออาสามาทำหน้าที่ในบทบาทใหม่ ทั้งนี้ ถ้าคนที่มองยังยึดติดกับอดีตตรงนั้น เขาก็ก้าวข้ามไม่พ้นหรอก แต่มันก็ช่วยไม่ได้ ยังมีคนที่วิจารณ์อยู่แล้ว แต่ผมอยากให้แยกกันว่าบทบาททางการเมืองก็อย่างหนึ่ง ส่วนบทบาททำงาน กทม.ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นคนละหน้าที่กัน

ผมขอถามว่าวันนั้นชัตดาวน์จริงหรือไม่ เพราะชัตดาวน์แค่บางจุดที่มีการชุมนุม แต่พื้นที่อื่นๆ ทุกคนยังไปไหนมาไหนได้ คำว่า ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เป็นแค่หัวข้อในการชุมนุม และไม่ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มใดย่อมส่งผลกระทบอยู่แล้ว แต่ต้องชั่งน้ำหนักกัน มันไม่มีการต่อสู้ไหนหรอกที่จะไม่เกิดผลกระทบ เพียงแต่จะเกิดมากหรือน้อย

“พอเวลาผ่านไป เราโตขึ้นมา หลังเหตุการณ์นั้นจบ เราก็ไปทำงาน ตอนที่ผมได้ทำงานบริหาร กทม. ก็ไม่ได้เอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยว เวลามีคนมาขอให้ช่วยอะไร ผมทำหมด ไม่เคยถามเขาว่าคิดเรื่องการเมืองอย่างไร และการสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องเป็นผู้ว่าฯสำหรับทุกคน ส่วนเรื่องการทำความเข้าใจนั้น ถ้าคนที่พร้อมรับฟัง ผมคิดว่าสามารถคุยกันได้ แต่ก็มีบางคนที่ไม่พร้อมจะฟัง และเขาคิดเองไปแล้ว”