นายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ บุคคลซึ่งถือเป็น “กุนซืออินโด-แปซิฟิก” ของรัฐบาลวอชิงตัน เยือนกรุงโฮนีอารา เมืองหลวงของหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อพบหารือ “เป็นการด่วน” กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กแห่งนี้ โดยเป้าหมายการเยือนของแคมป์เบลล์ คือ “การโน้มน้าว” ไม่ให้รัฐบาลของหมู่เกาะโซโลมอนลงนามในข้อตกลง ยกระดับความมั่นคงกับจีน

นายกรัฐมนตรีมานัสเซห์ โซกาวาเร ผู้นำหมู่เกาะโซโลมอน ( คนซ้าย ) และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นสักขีพยาน การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระดับทวิภาคี ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2562

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเยือนเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลจีนประกาศว่า นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรมว.การต่างประเทศจีน และ นายเจเรเมียห์ มาเนเล รมว.การต่างประเทศของหมู่เกาะโซโลมอน ลงนามร่วมกันในข้อตกลงว่า ด้วยการยกระดับการเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงระดับทวิภาคี “เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” แม้ไม่มีการระบุชัดเจน ว่าการลงนามเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่มีการกล่าวว่า กลุ่มประเทศแปซิฟิกตอนใต้ “ไม่ใช่หลังบ้าน” และ “หมากการเมืองบนกระดานอำนาจของใคร”

หมู่เกาะโซโลมอนเป็นประเทศขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่เพียง 28,400 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 700,000 คนเท่านั้น ทว่านับจากนี้เป็นต้นไป หมู่เกาะแห่งนี้ถือเป็น “จุดยุทธศาสตร์เกมอำนาจ” แห่งใหม่ของภูมิภาคแห่งนี้ อยู่ห่างจากออสเตรเลียประมาณ 1,000 ไมล์ หรือราว 1,600 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากรัฐฮาวายของสหรัฐราว 3,600 ไมล์ หรือเกือบ 5,800 กิโลเมตร การที่จีนและหมู่เกาะโซโลมอนลงนามร่วมกันในข้อตกลงดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็น “สัญญาณเตือน” ถึงกลุ่มความร่วมมือจตุภาคี “ควอด” ที่มีสมาชิกคือ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

ทั้งนี้ หมู่เกาะโซโลมอนเริ่มเข้าหาจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2562 ที่หมายถึงการต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการทำให้รัฐบาลไทเปต้องถอนการลงทุน และยุติความช่วยเหลือทางการเงินกับรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนไปโดยปริยายเช่นกัน แต่เรื่องนี้จุดชนวนความขัดแย้งยืดเยื้อในประเทศ และปัจจัยสำคัญให้เกิดการจลาจลทำลายย่านไชนาทาวน์ ในกรุงโฮนีอารา เมื่อเดือน พ.ย. 2564

จนถึงขณะนี้ ทั้งจีนและหมู่เกาะโซโลมอนยังคงปฏิเสธเปิดเผยสาระสำคัญของข้อตกลงเรื่องความมั่นคงที่ว่านี้ อย่างไรก็ตาม รายงานหลายกระแสเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน เกี่ยวกับข้อตกลงนี้ ซึ่งรวมถึงการที่รัฐบาลปักกิ่งอาจมีการนำเรือมาจอดเทียบท่า เพื่อเติมเสบียง หรือเดินทางผ่านหมู่เกาะโซโลมอน โดยต้องได้รับความเห็นชอบ จากรัฐบาลในกรุงโฮนีอารา ขณะเดียวกัน รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนอาจอนุญาตให้ตำรวจของจีนเข้ามาปฏิบัติการในประเทศ “เพื่อรักษาความสงบในสังคม”

ก่อนหน้าที่มีการเปิดเผยบางประเด็นเกี่ยวกับข้อตกลง สหรัฐประกาศแผนเตรียมกลับมาเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำหมู่เกาะโซโลมอน หลังปิดไปเมื่อปี 2536 ความเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยิ่งสะท้อนว่า ภูมิภาคแปซิฟิกและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นสนามแข่งขันแห่งใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจ ในการขยับขยายอิทธิพลด้านความมั่นคง อย่างไรก็ดี พลวัตการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแถบนี้ มีความหลากหลาย ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายการทูตแบบ “พลิกแพลงได้ตลอด” ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ หรือศรีลังกา

นายกรัฐมนตรีมานัสเซห์ โซกาวาเร ผู้นำหมู่เกาะโซโลมอน ( คนซ้าย ) ถ่ายภาพคู่กับนายเซด เซเซลจา รัฐมนตรีด้านการพัฒนาแปซิฟิกของออสเตรเลีย ที่กรุงโฮนีอารา เมื่อเดือนเม.ย.2565

อนึ่ง ยังเร็วเกินไปที่จะเจาะจง ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ “สมรภูมิแห่งใหม่” ของ “สงครามเย็น 2.0” แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ระเบียบโลกด้านความมั่นคงของสหรัฐกำลังสั่นคลอนมากขึ้นทุกขณะ จากการขยับขยายของจีน และไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่รูปแบบการแผ่ขยายอิทธิพลด้านความมั่นคงของรัฐบาลปักกิ่งเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ เป็นการดำเนินการไม่ต่างจากที่รัฐบาลวอชิงตันเคยปฏิบัติมาก่อน

นับจากนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับหมู่เกาะโซโลมอน “เป็นการอุ่นเครื่อง” ที่มีแนวโน้มจะทวีความร้อนระอุ แม้คงไม่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตาม คงเป็นการยากที่บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของหมู่เกาะโซโลมอน จะหลีกเลี่ยงไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะสองประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งต้องเข้าใจและยอมรับว่า ที่นี่ “ไม่เคยเป็นหลังบ้านอย่างแท้จริง” ของตัวเอง.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS