เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ประชุมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการจัดการเรียนรู้เชิงรุกดังกล่าวนั้น ครูผู้สอนต้องร่วมพูดคุยกันเพื่อให้เกิดคุณลักษณะที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้กับนักเรียน ทั้งการปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกที่สอดคล้องกันกับทักษะ คุณลักษณะของนักเรียนที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สำหรับ Active Learning เป็นกระบวนการที่ทำให้นักเรียนได้คิด ลงมือปฏิบัติ และสื่อสารว่าเข้าใจถูกต้องตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ในคาบนั้น ฝากครูทำบันทึกหลังสอน เน้นการวิเคราะห์เด็ก เพื่อเติมเต็มให้นักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนในคาบนั้น พร้อมทำ PLC แก้ไขปัญหาการเรียนรู้กับนักเรียนร่วมกับครูคนอื่น แล้วรายงานผลการดำเนินการอย่างง่ายด้วย Abstract 1 หน้า โดยหนุนเสริมความเข้มแข็งจากศึกษานิเทศก์เข้ามาช่วยเติมเต็ม พร้อมกันนั้นต้องสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน เช่น มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน หรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน เพิ่มเติมนำแหล่งเรียนรู้หรือคุณค่าในอดีตมาเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญามาใช้เติมคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สู่สมรรถนะเด็กไทยในเวทีโลก

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning อย่างสร้างสรรค์แล้ว การอดทนในการรอคอยคำตอบของนักเรียน จะส่งผลต่อการสร้างโอกาสให้ได้คิด ได้เข้าถึงการสื่อสารโดยเข้าไปในโลกของนักเรียน นำไปสู่การทำให้ครูเป็นไอดอล เข้าถึงได้ เป็นที่ชื่นชอบ และเป็นที่ไว้วางใจของเด็ก จนสามารถพูดคุยกับนักเรียนได้ทุกเรื่อง เหล่านี้จะเป็นประตูสำคัญที่ทำให้ดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย ทั้งครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ในการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทุกมิติ เปล่งประกายด้วยตัวเองจากท้องถิ่นไปสู่เวทีระดับโลก อย่างไรก็ตามการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยไม่เพียงเรียนรู้หลักการแนวทางที่เป็นทฤษฎีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเน้นการขับเคลื่อนตามนโยบายลงสู่การปฏิบัติด้วยการลงมือทำจริง ให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการศึกษาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้เตรียมทีมเพื่อติดตามช่วยครู (Follow up) ทั้งทีมจากเขตพื้นที่ฯ และทีมจากส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันลงสู่สมรรถนะผู้เรียนตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญมาโดยตลอด