เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer)  แถลงข่าวกรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า วัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมากรณีสหรัฐบริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโด๊ส จัดสรรเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันรวม 700,000 โด๊ส กลุ่มที่ 2 จัดสรรให้จังหวัดที่มีการระบาดที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข็มงวด ตามที่มีการพิจารณาก่อนหน้านี้คือ 13 จังหวัด  645,000 โด๊ส ไม่ได้รวมกับกรณีที่เพิ่งมีการประเทศเพิ่มเป็น 29 จังหวัดเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มที่ 3 ให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย หรือคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเสนอรายชื่อมา ประมาณ 150,000 โด๊ส และกลุ่มที่ 4 ทำการศึกษาวิจัย 5,000 โด๊ส และ อีกกว่า 3,450 โด๊ส ในกรณีควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่อาจใช้วัคซีนตัวอื่นได้ยาก

สำหรับการจัดสรรให้กลุ่มบุคลากรการแพทย์ด่านหน้านั้นจะครอบคลุมผู้ปฏิบัติงาน ทั้งแพทย์ด่านหน้า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงโดยตรง ที่อยู่ในหน่วยบริการ และภาคโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งบุคลากรที่ให้บริการผู้ป่วยทั่วไปที่มีความเสี่ยงจะรับเชื้อ เช่น อาสาสมัครกู้ภัย ที่มาช่วยงานหรือพนักงานเก็บศพ ก็อยู่ในโควตา 7 แสนโด๊ส ซึ่งตัวเลขวัคซีน 7 แสนโด๊ส พิจารณาแล้วว่าตัวเลขจะพอดีกับการจัดสรรรอบนี้ หากมีเหลือก็ต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีพิธีการรับส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์อย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการที่สถานทูตอเมริการะบุจำนวนทั้งหมด 1,503,450 โด๊ส  สำหรับการฉีดวัคซีนให้กลุ่มบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่มีประเด็นข้อสอบถามเข้ามาเยอะนั้น เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมามีการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติให้ฉีดบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 จากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมถึงนักศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด จากการปฏิบัติงาน หรือการเรียนการสอนที่ต้องมีการสัมผัสผู้ป่วยเช่น ผู้ที่ทำงานแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักตัวควบคุมโรค หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโควิดอื่นๆ ที่อาจจะเพิ่มเติมซึ่งกลุ่มนี้ให้เป็นไปตามการพิจารณาของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด

หลักการให้วัคซีน 1.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม 2.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโด๊สตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก เช่นเข็มแรกฉีดแล้วกำหนดให้ฉีดเข็ม 2 ใน 3 สัปดาห์ก็ให้ฉีดไฟเซอร์ใน 3 สัปดาห์ 3.บุคลากรที่ไม่เคยได้วัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ 4.บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้อ อย่างน้อย 1 เดือน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ

นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้  1 วัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและวัคชีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 สูตรสลับไขว้ที่เพิ่งดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้  2.วัคซีนแอสตราฯ 1 เข็ม กำหนดได้รับเข็ม 2 ใน 12 สัปดาห์ ซึ่งมีบุคลากรไม่มากในกลุ่มนี้ และเพิ่งได้รับเมื่อไม่นาน  3. ผู้ที่ได้รับวัคชีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วย แอสตราฯ 1 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มกระตุ้น เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอเนื่องจากเพิ่งฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม บุคลากรกลุ่มนี้ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ และจะติดตามมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการ และดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป

เมื่อสอบถามถึงกำหนดการกระจายวัคซีนไปฉีดตามพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเริ่มทยอยส่งในสัปดาห์นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการซักซ้อม และสอบถามความพร้อมของพื้นที่ปลายทางทั้งเรื่องของการจัดเก็บ และความพร้อมในการฉีดวัคซีน เพราะอย่างที่แจ้งให้ทราบว่าการเก็บวัคซีนไฟเซอร์ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้ได้ ดังนั้นหากพื้นที่ไหนพร้อมก็จะจัดส่งไปให้ ไม่ได้กระจายพร้อมกัน

เมื่อสอบถามเรื่องการฉีดวัคซีนให้วีไอพีถึงที่บ้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างที่ทราบวัคซีนเราเพิ่งได้รับเข้ามาเมื่อ 04.30 น. วันที่ 30 ก.ค. จัดเก็บที่คลังของบริษัทซิลลิค ในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นั่น ยังไม่ได้กระจายเพราะต้องควบคุมอุณหภูมิ กรณีที่มีข่าวว่ามีคนได้รับวัคซีนไฟเซอร์นั้นจึงยืนยันว่าไม่ใช่วัคซีนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข.