นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า ขร. ได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางราง ก่อน-หลังการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 62-64 โดยพบว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ มีผู้โดยสารทุกระบบเฉลี่ย 1.22 ล้านคน/วัน และหลังการแพร่ระบาดฯ มีผู้โดยสารทุกระบบเฉลี่ย 2.14 แสนคน/วัน ซึ่งปริมาณผู้โดยสารรวมลดลงถึง 82.5% ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามระบบ พบว่า 1. รถไฟ ลดลง 90.76% เหลือ 7,896 คน/วัน 2. รถไฟฟ้า MRT ลดลง 80.05% เหลือ 6.72 หมื่นคน/วัน 3. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลดลง 86.75% เหลือ 9,531 คน/วัน และ 4. รถไฟฟ้า BTS ลดลง 82.27% เหลือ 1.3 แสนคน/วัน  

นายกิตติพันธ์ กล่าวต่อว่า จำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางที่ลดลงนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 จนถึงฉบับที่ 28 ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดฯ ที่มีผลต่อปริมาณการเดินทางในระบบขนส่งทางราง ได้แก่ การห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด การจำกัดบริการการเดินทางและขบวนรถ การควบคุมความหนาแน่นในขบวนรถ และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และจำกัดกิจกรรม/กิจการ ฯลฯ ที่มีการบังคับใช้แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์การระบาดของโรคตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีการระบาด (ระลอกใหม่)  ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากย้อนดูตัวเลขสถิติจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.64 เป็นวันที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการขนส่งทางรางทุกระบบน้อยที่สุด โดยผู้โดยสารทุกระบบรวมอยู่ที่ 9.84 หมื่นคน ลดลง 91.82% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ แบ่งเป็น รถไฟ 5,350 คน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 4,355 คน, รถไฟฟ้า MRT 2.82 หมื่นคน และรถไฟฟ้า BTS 6.05 หมื่นคน.