“นฤตม์ เทิดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ฉายภาพถึงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ในงานสัมมนา Go Green 2024:The Ambition of Thailand “ร่วมเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า บีโอไอมีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน ต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า เมื่อมาตั้งโรงงานในประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอได้สนับสนุนการลงทุน 4 ด้าน แบ่งเป็น ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคชุมชน

ทั้งนี้จากความมุ่งมั่นในเรื่อง “โกกรีน” คือ ความทะเยอทะยาน ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะไปสู่เป้าหมาย ความมุ่งมั่นนี้ส่งผ่าน
จากระดับประเทศมาสู่องค์กร ประเทศไทยจึงได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 รวมถึงเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 และการที่ประเทศไทยจะแอ็กชันได้อย่างไรนั้น สิ่งสำคัญคือความร่วมมือผ่านกลไกรัฐ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอได้ร่วมมือกับทั้งรัฐและเอกชน อาทิ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ฯลฯ เป็นต้น

“เรื่องกรีนมีผลกับทุกบริษัท ทุกอุตสาหกรรม กรีนไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อประเทศ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันหลายบริษัทชั้นนำก็ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ ดังนั้น เมื่อทิศทางชัดเจน การลงมือทำให้เร็วจึงสำคัญ”

ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา บีโอไอได้มีโอกาสร่วมโรดโชว์กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้จำนวนมาก ซึ่งในเวทีการหารือ นักลงทุนต่างพูดถึงปัจจัยสำคัญที่จะมีผลในช่วง 5 ปี ข้างหน้านี้ คือ 1.การจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน 2. ปัญหาจีโอโพลิติก 3.กติกาภาษีใหม่ ที่บังคับบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติจะต้องจ่ายภาษีขั้นตํ่า 15%

สำหรับการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมบีโอไอได้ให้ความสำคัญ และส่งเสริมธุรกิจในกลุ่ม BCG ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 50 กิจการ ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจภาคการเกษตร อาหาร ไบโอเทคโนโลยี และพลังงานสะอาด โดยธุรกิจบริการด้านเซอร์คูลาร์อีโคโนมี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมไปแล้วกว่า 2,600 โครงการ เงินลงทุนรวมกันมากกว่า 4.9 แสนล้านบาท ทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ตั้งแต่การสนับสนุนเงินปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น การปรับแผงโซลาร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการยกระดับกิจการด้วยมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล เพื่อให้มุ่งสู่เป้าหมายโกกรีนเร็วขึ้น

ในส่วนของภาคพลังงาน บีโอไอได้เน้นการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ซึ่งถือเป็นกิจการที่สนับสนุน 100% อาทิ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไบโอแมส ก๊าซโฮโดรเจน รวมถึงพลังงานจากขยะ โดยปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเข้ามาขอสนับสนุนเพิ่มสูงขึ้นมาก รวม 440 โครงการ เงินลงทุนรวมกันมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า เหล่านี้จะเห็นเรื่องการตื่นตัวและดีมานด์ของพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีธุรกิจที่ต้องมีพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น

ด้านภาคขนส่ง เป้าหมายหลัก คือ การปรับเปลี่ยนยานพาหนะไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่น ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีอันดับ 1 ของภูมิภาค และอันดับต้น ๆ ของโลก โดยภายในปี 2030 ไทยจะผลิตรถอีวีไม่ตํ่ากว่า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาครอบคลุมทุกด้านของสิทธิประโยชน์ทั้ง อีโคซิสเต็ม อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ ชาร์จเจอร์ โดยบีโอไอได้สนับสนุนล่าสุด คือ การสนับสนุนระดับเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้ อมิตา เทคโนโลยี ถือเป็นโรงงานแรกในกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ไปแล้ว ดังนั้นการออกมาตรการดังกล่าวจะเป็น
การดึงบริษัทใหญ่ระดับโลกเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย สำหรับมาตรการล่าสุดที่ออกมาคือ การส่งเสริมให้เกิดมาตรการใช้รถเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถบัส และรถทรัคให้เปลี่ยนมาเป็นรถอีวี โดยคาดหวังว่ามาตรการนี้จะทำให้วงการรถใหญ่เชิงพาณิชย์มาสู่อีวีบัส และอีวีทรัคไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นคันในช่วง 2-3 ปีที่จะถึง

“นอกจากการสนับสนุนด้านภาษีแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนการลงทุนด้วย โดยสถิติการส่งเสริมอีวีทั้งซัพพลายและผู้ซื้ปัจจุบัน จะเห็นว่าเราประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ประเทศไทยมีอัตราการใช้อีวีสูงที่สุดในภูมิภาค โดยปีที่แล้วมีการจดทะเบียนอีวี 7.6 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 6.5 เท่า”

ทั้งนี้ในส่วนของภาคชุมชนบีโอไอได้กำหนดมาตรการส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในการช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมมากขึ้น โดยมีเงินทุนสนับสนุนให้กับเอกชนที่เข้าไปช่วยส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตร ด้านระบบนํ้า ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในท้องถิ่น ตลอดจนโรงเรียนและโรงพยาบาล.