คุณหมอมาร์ค : น้อง K. เป็น Banker ที่ทันสมัยมากค่ะ สมัยนี้บทบาทของธนาคารเพื่อความยั่งยืนกำลังมาแรง การมองหานวัตกรรมมีมากมาย ทั้งในขบวนการที่ธนาคารดำเนินงานและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่การเงินของธนาคาร น้อง K. ลองค่อย ๆ แกะรอยไปทีละส่วนนะคะ

1.นวัตกรรมที่อยู่ใน ESG ของขบวนการดำเนินงานของธนาคาร อันนี้เริ่มได้จากการค้นหาจากรายงานประจำปี ทั้งรายงานการประกอบธุรกิจและรายงานความยั่งยืน ย้อนหลังสัก 3-5 ปี ก็พอจะแกะรอยได้ว่าธนาคารมีทิศทางไปทางใด ลองดูเรื่อง E-Environment ว่าธนาคารมีข้อมูลการคำนวณคาร์บอนในการดำเนินงานหรือไม่ มี Scope ใด มีแผนการลดและชดเชยมากน้อยแค่ไหน มีเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ปีไหน แค่นี้ก็หานวัตกรรมได้มากมาย S-Social ดูว่าธนาคารทำอะไรเพื่อสังคมและชุมชนรอบข้างบ้าง ให้ความรู้เรื่องการเงินกับสังคมไหม มีเงินกู้เงินฝากเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างไร มีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อสังคมอะไร ลองพัฒนาดูค่ะ และที่สำคัญ G-Governance ธรรมาภิบาล ความเป็นธรรม โปร่งใส ส่งเสริมความเท่าเทียม ต่อต้านคอร์รัปชัน สามารถหานวัตกรรมใน G ได้มากมายเช่นกัน ซึ่งรายงานความยั่งยืน SD Report น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นได้

2.นวัตกรรมที่อยู่ในสินค้าและบริการเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ส่งเสริมเป้าหมาย SDG เช่น เงินกู้เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด เงินกู้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้องค์กรที่กู้ยืมลดคาร์บอนจากการประกอบการมีเป้าว่าถ้าลดคาร์บอนได้มาก ดอกเบี้ยก็จะลดลง เงินกู้สำหรับคนยากจนเพื่อลดความเหลื่อมลํ้า หรือสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม สำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ SDG เป็นต้น

3.นวัตกรรมที่ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เช่น ซัพพลายเออร์ ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการไอที และสื่อสาร คู่ค้าและลูกค้า เป้าหมายเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น หรือจะเริ่มดูนวัตกรรมเพื่อลดคาร์บอน Scope 3 ของธนาคารจากห่วงโซ่กิจการก็ได้

น้อง K. ลองดูตามจุดต่าง ๆ ที่บอกเป็นเบื้องต้นนะคะ น่าจะมีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่รอการพัฒนา อย่างไรก็ตามคงหนีไม่พ้น Key Word ที่ว่า ESG (Environment Social Governance) สำหรับธนาคาร Governance หรือธรรมาภิบาล น่าจะมีความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมมากที่สุด เพราะเป็นบทบาทใหม่สำหรับธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.

Banker สาวดาวรุ่ง สมมุติชื่อ “K.” ถูกมอบหมายให้ดูแลเรื่องความยั่งยืน ได้เขียนจดหมายมาสอบถามคุณหมอมาร์ค