เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ รัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ต่อเนื่อง เป็นวันที่สองโดยได้เริ่มต้นเป็นการพิจารณาลงมติมาตรา 6/3 ที่ กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอเพิ่มขึ้นใหม่ ให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ใช้หมายเลขเดียวกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน จากเดิมที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เป็นคนละเบอร์กัน

ผลปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ กมธ.เสียงข้างน้อย ด้วยคะแนน 341 ต่อ 150 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน3 ส่งผลให้ยังคงใช้วิธีมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เป็นคนละหมายเลขกันเหมือนเดิม จากนั้นที่ประชุมพิจารณาเรียงรายมาตรา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ต่อจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณา มาตรา 12 ว่าด้วย เรื่องข้อห้ามมิให้ผู้สมัครกระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่นด้วยการสัญญาจะให้ทรัพย์สิน เงินทอง การสัญญาว่าจะให้ การจัดมหรสพงานรื่นเริงต่างๆตามที่กมธ.เสียงข้างมากเสนอมานั้น ปรากฎว่ามีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มีความกังวลมาตรฐานการทำงานของ กกต. ขณะนี้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วจากการจะกลับไปใช้สูตร 500 หารจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นการแย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอรักษาอำนาจตนเองไว้ก่อน ไม่สนใจสังคม อยากมีอำนาจทั้งที่เศรษฐกิจแย่ ประชาชนยากจนทุกหย่อมหญ้า แต่ท่านอยากไปต่อ ฝ่ายค้านน่าเป็นห่วงที่สุด นอกจากโดนความพิสดารของรัฐธรรมนูญแล้ว

“การเลือกตั้งครั้งหน้าไม่รู้จะโดนอะไรอีก ทราบว่าขณะนี้การแบ่งเขตเลือกตั้งเริ่มฮั้วให้บางพรรคแล้ว จังหวัดใดได้ผู้แทนเพิ่มเริ่มมีปัญหา เชื่อว่ากระบวนการแจกกล้วยจะกระจายไปยังเขตเลือกตั้งเป็นคันรถซึ่ง กกต.รู้ แต่ไม่ปฏิบัติเพราะต้องหาหลักฐาน บางบ้านสะสมเสบียงเป็นพันล้านบาทเตรียมเลือกตั้งวันนี้เรารบกับ “3 ป.” ไม่ใช่ปลากัด ปลาดุก ปลาช่อนแต่คืออำนาจเต็ม ขอฝากไปยัง กกต.ที่จะสร้างประชาธิปไตยในแผ่นดินให้ความเป็นธรรมกับบ้านเมือง พวกผมหมดปัญญาแล้ว ต่อให้ยกสองมือ ไม่มีทางชนะ ผมยอมแล้ว” นายครูมานิตย์ กล้า

นอกจากนี้ยังมีสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายท้วงติงขอให้จัดงานมหรสพในการหาเสียงได้ ไม่ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร เพราะมีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมืองไว้อยู่แล้ว การจัดงานมหรสพเป็นวิธีให้ประชาชนออกมารวมตัวฟังการแถลงนโยบายในหมู่คนจำนวนมากได้ อย่าเอาการได้เปรียบเสียเปรียบจากการฟังปราศรัยมาเกี่ยวข้อง

โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.เสียงข้างน้อย ชี้แจงเหตุผลห้ามจัดงานมหรสพว่า เนื่องจากมีความไม่เหมาะสม มีการห้ามจัดงานมหรสพในการเลือกตั้งทุกครั้งอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคที่มีเงินจัดมหรสพกับพรรคที่ด้อยกว่า การให้นำการจัดงานมหรสพคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งนั้น ทำได้ยาก เพราะราคามหรสพไม่มีมาตรฐานใดๆ วัดได้ ถ้ารู้จักดาราอาจมาให้ฟรี คิดค่าใช้จ่ายน้อย ถ้าไม่รู้จักอาจคิดราคาแพง พรรคใหญ่อาจจ้างมาราคาแพง แต่บอกค่าใช้จ่ายน้อย เวลาจัดงานมหรสพ ประชาชนสนใจแต่งานมหรสพ ไม่สนใจฟังปราศรัยหาเสียง ในที่สุดที่ประชุมลงมติด้วยคะแนน 401 ต่อ 78 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 3