เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คนที่ 24 สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าวันที่ 18 ก.ค.ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. กมธ.มีกำหนดพิจารณางบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหม โดยผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพเตรียมเข้าชี้แจงรายละเอียดด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี กมธ.พร้อมฟังการแถลงรายละเอียดและพิจารณารายละเอียดก่อนตั้งประเด็นซักถาม ซึ่งตนเตรียมข้อซักถามไว้หลายประเด็นสำหรับเอกสารรายละเอียดที่กระทรวงกลาโหมส่งมาให้ กมธ. ยังไม่ลงรายละเอียดเรื่องครุภัณฑ์ เพราะเชื่อว่าจะอยู่ในเอกสารที่นำไปชี้แจงคณะอนุ กมธ. แต่เบื้องต้นมีหลายประเด็นที่พิจารณาแล้ว ควรตั้งคำถามกับผู้มาชี้แจงในการประชุม กมธ.

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง มูลค่า 4,070 ล้านบาทของกองทัพเรือ ที่ถูกตั้งคำถามว่าการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) ของการจัดซื้อครั้งนี้ผิดวัตถุประสงค์ของการขอใช้งบประมาณหรือไม่ เนื่องจากกองทัพเรือของบประมาณเพื่อซื้อ UAV ติดอาวุธ 3 เครื่อง แต่กลับกำหนด TOR เพื่อจัดหา UAV ทั้งสิ้น 7 เครื่อง โดยไม่มีการจัดหาอาวุธมาด้วย แปลว่า UAV ทั้ง 7 เครื่องนี้ ยังไม่พร้อมรบใช่หรือไม่ และหากต้องการให้ปฏิบัติภารกิจโจมตีทางอากาศตามวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อ กองทัพเรือต้องมาของบประมาณเพื่อซื้ออาวุธเพิ่มเติมอีกใช่หรือไม่ และขอให้ฟันธงมาเลยว่าเมื่อสภาอนุมัติงบประมาณให้ซื้อ UAV พร้อมอาวุธ 3 เครื่อง แต่กองทัพเรือไปซื้อ UAV ที่ปราศจากอาวุธ​ 7 เครื่อง และมีสภาพไม่พร้อมรบแบบนี้ เป็นการจัดหาที่ผิดวัตถุประสงค์ที่กองทัพเรือมาชี้แจงกับสภาหรือไม่

“แต่จนถึงขณะนี้นอกจากกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือจะยังไม่ตอบคำถาม และไม่มีการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีรายงานจากกระทรวงกลาโหมว่าเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.65 พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เซ็นอนุมัติซื้อ UAV หรือโดรนของกองทัพเรือ จากบริษัท เอลบิท ซิสเต็ม ของประเทศอิสราเอล รุ่น Hermes 900 จำนวน 7 ลำ มูลค่า 4,004,652,000 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับการรับรองจากกรมบัญชีกลาง รอเพียงกองทัพเรือประกาศให้สาธารณะรับทราบ และหลังจากนี้ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทนจะดำเนินการเซ็นสัญญาจัดซื้ออย่างเป็นทางการต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า เมื่อกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ยืนยันที่จะจัดหา UAV ดังกล่าว และรีบเร่งอนุมัติโครงการโดยไม่รับฟังเสียงทักท้วงของฝ่ายตรวจสอบ และยังหลีกเลี่ยงการตอบคำถามแบบตรงไปตรงมาแบบนี้ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ ตนเองจะได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของ กมธ.ป.ป.ช. เพื่อขอมติให้ทำการตรวจสอบโครงการนี้โดยเร่งด่วน โดยขณะนี้ตนเองได้รับเอกสารข้อมูลต่างๆจากพลเมืองดีมาเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ทุกขั้นตอนในวันที่ 31 ม.ค.65 และ 14 ก.พ.65 ที่เกิดขึ้นในห้องทำงานของคณะกรรมการจัดซื้อฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการตรวจสอบและทำความจริงให้ปรากฏต่อไป

“จากหลักฐานที่ได้มาเชื่อว่า คณะกรรมาธิการฯทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันที่จะพิทักษ์รักษางบประมาณของชาติกว่า 4 พันล้านบาทให้ถูกใช้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า และเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ใช่ถูกใช้จ่ายเพื่อผลประโยชน์ของใครบางคนเท่านั้น”น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว.