ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ส่งสัญญาณมาสักระยะว่า เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อที่สูงในปัจจุบัน ทำให้ดอกเบี้ยของไทยกำลังเป็นช่วงขาขึ้น ส่งผลให้คนที่กู้เงินต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ซึ่งจะมีกลุ่มคนกู้เงินใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย

ในเรื่องนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ออกมาบอกว่า แม้เงินเฟ้อที่สูงจะมาจากปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถจัดการได้โดยตรง แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่านโยบายการเงินจะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นต่อในระยะข้างหน้า

ในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอีก แต่เรายังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงลดลงไปอีก กลายเป็นเราเหยียบคันเร่งให้เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบที่ 5.70% และธุรกิจมีต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงผ่านการออกตราสารหนี้ติดลบที่ 4.3% ต่ำกว่าสิ้นปีก่อนมากที่ 0.2%

“การขึ้นดอกเบี้ยที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด ควรทำแต่เนิ่น ๆ เมื่อเห็นสัญญาณ เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา หากช้าเกินไป อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อดูแลภายหลัง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้น”

ทั้งนี้ ปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว แรงส่งที่จะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดยังมีไม่มาก อีกทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงยังไม่ช้าไป

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อทยอยถอนคันเร่ง แต่ยังไม่ต้องเหยียบเบรกหรือเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงเร็วไป จนประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการที่สุด

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยังบอกอีกว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่กลุ่มลูกหนี้บางประเภทที่ได้รับดอกเบี้ยลอยตัว (float) แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ผลของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจะน้อยกว่าผลของเงินเฟ้อที่จะลดทอนกำลังซื้อของประชาชน

โดยการประเมินของ ธปท. พบว่าดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของครัวเรือนที่มีหนี้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ 3.6% ซึ่งมากกว่าผลของการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 7 เท่า

-กรณีลูกหนี้เก่า หากเป็นสินเชื่อรายย่อย ประมาณ 60% ได้รับดอกเบี้ยคงที่ (fixed) อยู่แล้ว เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต ส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อบ้าน แม้ดอกเบี้ยส่วนใหญ่เป็นแบบลอยตัว แต่จะกำหนดค่างวดไว้ก่อนแล้ว โดยสถาบันการเงินจะเผื่อดอกเบี้ยที่อาจปรับเพิ่มขึ้นไว้ในค่างวด ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ลูกหนี้ธุรกิจเกือบทั้งหมดจะเป็นดอกเบี้ยลอยตัวตาม M-rate

-กรณีลูกหนี้ใหม่ ได้รับผลกระทบบ้างจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น ลูกหนี้ควรประเมินรายได้และรายจ่ายก่อนก่อหนี้ใหม่

“การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่สูง จึงยังคุ้มค่ากว่า” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ