เมื่อวันที่ 6 ส.ค. จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ผับ Mountain B อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จนมีมีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บสาหัสกว่า 30 ราย โดยพบต้นเพลิงเริ่มไหม้บริเวณหลังคา ก่อนจะลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งอาคาร ประกอบกับช่องระบายอากาศและทางออกด้านหน้าเปิดอยู่เพียงประตูเดียว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถออกมาได้ทันนั้น ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ย้อนกลับไปในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 ม.ค. 2552 “ซานติก้าผับ” ย่านเอกมัย ได้มีการจัดงานรื่นเริงเพื่อชมการแสดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ภายในตัวอาคารมากกว่า 1,000 คน ต่อมาพบว่าอยู่ในช่วงการแสดงดนตรี มีการจุดพลุไฟหน้าเวที จนเกิดไฟลุกไหม้บนเพดาน ก่อนจะลุกลามอย่างรวดเร็วในตัวอาคาร ทำให้ผู้คนด้านในพยายามวิ่งหนีตายออกมา ทั้งนี้มีพยานยืนยันว่า ช่วงที่หนีเอาตัวรอดมาได้นั้น พบว่าทางเข้าออกที่คับแค ทำให้ถูกไฟคลอก เสียชีวิตทั้งหมด 67 คน บาดเจ็บสาหัส 32 คน และบาดเจ็บอีก 71 คน ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565-8566/2558 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1, นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ จำเลยที่ 2, นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิงจำเลยที่ 3, นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด จำเลยที่ 4, นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟจำเลยที่ 5, บริษัท โพกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ ซานติก้าผับจำเลยที่ 6 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 จำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละ 3 ปี ให้ปรับจำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาท หากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้และคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ยก กับให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 4-8 จำนวน 5,120,000 บาท

โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกา

ศาลฎีกาได้ประชุมตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้ววินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยที่ 6 และที่ 7 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาตรวจดูภาพวิดีโอจากแผ่นดีวีดี คำให้การพยาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากดอกไม้เพลิงของจำเลยที่ 7 ที่ติดตั้งอยู่ที่หน้ากลองชุดดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่าจำเลยที่ 7 กระทำโดยประมาท ศาลฎีกาไม่กล่าวซ้ำอีก จำเลยที่ 7 มีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมา ส่วนจำเลยที่ 6 แม้จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ไม่มีสภาพบุคคลเหมือนบุคคลธรรมดาก็ตามแต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง… เวทีการแสดงต่าง ๆ … ตามวัตถุประสงค์ท้ายหนังสือรับรอง การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 6 และที่7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียนตั้งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจากจำเลยที่ 1 ไป ก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทคนหนึ่ง ปรากฏว่าแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นกรรมการแล้ว แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีจำเลยที่ 1 นั่งเป็นประธานในที่ประชุม โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุตามความเป็นจริง

มีข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 1 ไม่จัดให้มีไฟฉุกเฉินภายในร้านให้เพียงพอ ปล่อยให้แขกที่มาเที่ยวเข้าไปในร้านเกินกว่าความสามารถที่จุคนได้ไม่เกิน 500 คน และประตูเข้าออกที่สามารถรองรับคนเข้าออกได้เพียงประมาณ 500 คน ตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ที่โจทก์กล่าวมาว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ร้านเกิดเหตุซึ่งเป็นสถานบันเทิงเป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในข้อ 2 และข้อ 7 ที่กำหนดให้สถานบริการต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเพลิงไหม้ โดยมิพักต้องคำนึงว่าสถานบริการนั้นมีพื้นที่มากน้อยเท่าใด หาใช่ว่าสถานบริการต้องมีพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตารางเมตร จึงจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงฉบับนี้ ดังคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นนายช่างโยธาของสำนักงานเขตวัฒนาแต่อย่างใดไม่ คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุเกี่ยวกับไฟฉุกเฉิน บ่งบอกว่าภายในร้านเกิดเหตุไม่มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟ สอดคล้องกับหลักฐานในที่เกิดเหตุ ระบุว่าตรวจไม่พบระบบแสงสว่างฉุกเฉินในส่วนพื้นที่ชุมนุมคน ยิ่งกว่านั้นจำนวนคนที่อยู่ในร้านเกิดเหตุในช่วงที่ใกล้เวลานับถอยหลังเข้าสู่วันปีใหม่นั้น คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่อยู่ในร้านเกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้ เบิกความว่า คนในร้านยืนเบียดเสียดกัน การจะออกไปดูการจุดพลุนอกร้านทำได้ยาก มีคนอยู่ในร้านประมาณ 900 ถึง 1,000 คน เดินเบียดเสียดกันเพราะคนแน่นมาก ทุกคนยืนกันหมดเนื่องจากไม่มีที่นั่ง มีแต่โต๊ะวางเครื่องดื่ม

ตามคำเบิกความของนายเมธาพัฒน์ซึ่งเป็นช่างถ่ายวิดีโอของร้านเกิดเหตุว่า มีคนอยู่ที่ในร้านประมาณ 1,000 คน ตามคำเบิกความของนายนฤพัฒน์ว่ามีคนในร้านเกิดเหตุประมาณ 1,000 คน คนเบียดเสียดต้องยืนกัน การที่มีคนตายถึง 67 คน เป็นผลมาจากการที่เบียดเสียดหาทางออกไม่พบอันเนื่องจากไม่มีไฟฉุกเฉินบอกทาง และมีคนอยู่ในร้านเกิดเหตุอัดแน่นกันอย่างมากมายเกินกว่าที่ประตูทางออกจะรองรับให้ทันแก่การหนีไฟได้ ตามวิสัยและพฤติการณ์ของวิญญูชนที่ทำธุรกิจสถานบันเทิงเยี่ยงจำเลยที่ 1 ย่อมตระหนักได้ดีว่าการจัดให้คนมาชุมนุมเพื่อการรื่นเริงในสถานที่อันจำกัด หากมีอัคคีภัยเกิดขึ้น การระบายคนออกไปได้รวดเร็วและมากเท่าใด โดยมีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟ ย่อมทำให้คนที่มาชุมนุมหนีไฟออกมาได้อย่างปลอดภัยมากเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จักต้องจัดให้มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟในร้านเกิดเหตุและต้องไม่ยอมให้แขกที่มาเที่ยวเข้าไปในร้านเกิดเหตุในลักษณะที่ยืนเบียดเสียดอัดแน่นกันอยู่ภายในร้าน ทั้งที่ประตูเข้าออกทางด้านหน้าร้านซึ่งเป็นประตูหลักเพียงประตูเดียวมีความกว้างเพียง 2.30 เมตร เกินกว่าที่ประตูนั้นจะรองรับในการระบายคนให้ทันแก่เหตุการณ์ได้ การที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันอันเป็นผลทำให้แขกที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุหนีไฟออกมาไม่ได้เพราะติดค้างอยู่ด้านในถึงแก่ความตายเพราะเหตุถูกไฟคลอกและขาดอากาศหายใจ รวมทั้งแขกที่มาเที่ยวบางส่วนนับร้อยคนแม้จะหนีไฟออกมาได้ก็ยังได้รับบาดเจ็บถึงอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่ากระทำโดยประมาทร่วมด้วยนอกเหนือจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 6 และที่ 7 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ตาม ม.291ที่เป็นบทหนักสุด

ส่วนนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 3 ปีตาม ม.291และ ปรับ บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 เป็นเงิน 20,000 บาท และให้บริษัท จำเลยที่ 6 กับนายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ร่วมที่ 4-8 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 5,120,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทั้งนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 58 ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว นายวิสุข หรือเสี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1 และนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯจำเลยที่ 7 ได้ถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกคนละ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา