เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการเป็นประธานการประชุมปฏิบัติการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และปรับปรุง (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ระดับประถมศึกษา ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ ผู้บริหาร ครู จากโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และคณะทำงาน รวม 120 คน ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ชการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดของหลักสูตรการศึกษาไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เป็นการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เปลี่ยน ‘ห้องเรียน’ เป็น ‘ห้องเรียนรู้’ เพิ่ม “ห้องเรียนรู้” เป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน” เพิ่ม “ครู” จาก “ปราชญ์ท้องถิ่น” เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้แบบมีความหมาย ได้คิด เพื่อคิดได้ ได้ทำ เพื่อทำเป็น และเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง เป็นรากแก้วที่สำคัญของกิ่งก้านอื่นๆ จะเกิดต้นไม้ที่สมบูรณ์

สำหรับการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการดีที่ได้มีการทบทวนกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช … ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดทำเป็นร่างกรอบหลักสูตรฯ และก่อที่จะนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 185 โรงเรียน ที่จะเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลองเพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาร่างกรอบหลักสูตรฯ ดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีโรงเรียนใดที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักสูตรสถานศึกษา ดังนั้น สิ่งที่ดำเนินการในปัจจุบัน คือ อยู่ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและนำมาสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ซึ่งรับผิดชอบโดย กลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ (สวก.) และเมื่อได้วิเคราะห์ถึงแนวทางการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษานั้น ยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถทำให้บรรลุถึงห้องเรียนได้ คือ การแตกผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เป็นก้อนใหญ่ในระดับช่วงชั้น ลงสู่ระดับชั้นปีและในรายวิชา ซึ่งจุดเน้นสำคัญไม่เพียงแค่สมรรถนะตามหลักสูตรเท่านั้น แต่คุณลักษณะเป็นสิ่งสำคัญที่จะติดตัวนักเรียนไปในการทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไป

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่ครบทุกด้านตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งในด้านมาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะ นั่นแสดงให้เห็นว่า หลักสูตรฯในปัจจุบันก็สามารถทำให้นักเรียนถึงสมรรถนะสำคัญ 5 ประการได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่ง เพียงแค่ให้ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญในการรวมครูเพื่อร่วมกันวางแผนออกแบบ การบูรณาการเนื้อหา ตัดทอนเนื้อหาทึ่ซ้ำซ้อน รวบตัวชี้วัด และครอบเนื้อหาใหม่ทึ่เข้ากับบริบทของโรงเรียนหรือจะอาศัยแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนเป็นหน่วยบูรณาการก็ได้ ซึ่งจะไปสู่กระบวนการ Active learning ได้ง่าย โดยให้นักเรียนได้คิดทุกชั่วโมง ทุกวิชา คิดอย่างอัตโนมัติ ไม่เพิ่มภาระงาน แต่นักเรียนจะมีเวลาเพิ่ม และเข้าใจ เข้าถึงความรู้แบบมีความหมาย และรู้ว่าสิ่งที่เรียนไปเกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน สร้างเวที และสถานการณ์ให้นักเรียนในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ทักษะ และเห็นคุณค่าในการปฏิบัติงานจนสำเร็จ แล้วเติมเต็มด้วยเครือข่ายแหล่งเรียนรู้นำมาบูรณาการเข้าสู่ห้องเรียน เพราะแหล่งเรียนรู้เป็นระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ใช้ความรู้บนฐานของการปฏิบัติจริงจากปราชญ์ท้องถิ่น ที่มีการบ่มเพาะประสบการณ์จนกลายเป็น Soft power ของความเป็นไทยได้ครบทุกมิติ
.
“ทั้งนี้ ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฯ ปัจจุบัน หรือการดำเนินการจากร่างกรอบหลักสูตรฯ ใหม่ ก็สามารถพัฒนานักเรียนได้ถึงคุณภาพและสมรรถนะได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงแค่ทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันคือคุณภาพนักเรียน พร้อมขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในแนวทางของการพัฒนาหลักสูตรใหม่นี้จะเป็นแนวทางที่ผ่านกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อจะสามารถรับรองได้ว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน และไม่เพียงแต่มาตรฐานการเรียนรู้ หรือผลลัพธ์การเรียนรู้, สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนหรือสมรรถนะหลักนั้น ก็ไม่สำคัญเท่าคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์ สุจริต 3.มีวิยัย 4.ใฝ่เรียนรู้ 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย 8.มีจิตสาธารณะ ที่ต้องบ่มเพาะให้เกิดกับเด็กไทย เพื่อเป็นคนดีของสังคม ไม่ใช่แค่เพียงท่องจำ แต่กระบวนการต่างหากที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรจึงเกิดขึ้นที่ตัวนักเรียน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว.