เมื่อเวลา 10.00 น.  วันที่ 1 ก.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน เพื่อเยาวชนและสังคม พา น.ส.แนน (นามสมมุติ) อายุ 22 ปี นักแสดง ซึ่งถูกนายอภิดิศร์ อินทุลักษณ์ อายุ 34 ปี หลานอดีตรัฐมนตรี วางยาข่มขืน เหตุเกิดพื้นที่ สน.โชคชัย, น.ส.ใจบัว ฮิดดิ้ง อายุ 26 ปี ดาราลูกครึ่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถูก พ.ต.ต.อธินาถ อินทรบัวศรี สว.(สอบสวน) สน.บางพลัด กระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล เหตุเกิดพื้นที่ สน.คันนายาว และกลุ่มผู้เสียหายคดีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ข่มขืนกระทำชำเราและอนาจารต่อหน้าธารกำนัล เหตุเกิดพื้นที่ สน.ลุมพินี รวมตัวกันเข้าพบนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อเสนอเพิ่มโทษ ผู้กระทำผิดทางเพศ และวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ

นายษิทรา กล่าวว่า ตนพร้อมกลุ่มผู้เสียหาย เข้ามาขอหารือเกี่ยวกับการวางมาตรการป้องกันปัญหาทางเพศ กับ รมว.ยุติธรรม เนื่องจากตนรับเรื่องร้องเรียนความผิดเกี่ยวกับทางเพศจำนวนหลายราย โดยส่วนมากผู้กระทำความผิด อาจจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม มีอิทธิพล อาจใช้อำนาจของตนแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และมักกระทำผิดซ้ำๆ โดยไม่เกรงกลังกฎหมาย ขอให้ รมว.ยุติธรรม หาทางป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยข้อให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิดทางเพศ หรือหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ

ด้าน รมต.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบใจทางทนายษิทรา ที่ช่วยเหลือผู้เสียหายมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น เรื่องเพศ ความรุนแรง เสรีภาพ ซึ่งเข้ากับแนวทางของกระทรวงยุติธรรม​ กำลังรอโปรดเกล้าฯ ร่างกฎหมาย JSOC (เจซอก)​ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เรื่องเพศและความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายไม่ว่าจะเป็นการ อนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ กักขังหน่วงเหนี่ยว หากผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ก็สามารถให้อัยการทำเรื่องส่งศาลพิจารณา ให้พิจารณาติดกำไลอีเอ็มต่อเมื่อเขาพ้นโทษได้อีกสูงสุด 10 ปี ซึ่งเคสที่ทนายษิทราพามานั้น สามารถใช้มาตรา 138 ทำเอกสารเพิ่มเติมได้ ขอโทษติดกำไลอีเอ็มได้

นาย​สมศักดิ์​ กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากคดีนายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่องหลังพ้นโทษกลับมาก่อเหตุทำผิดซ้ำ กระทรวงยุติธรรมจึงได้ทำเรื่องเสนอกฎหมาย JSOC พร้อมติดกำไล EM เพื่อควบคุมหลังผู้ต้องขังพ้นโทษป้องกันก่อเหตุซ้ำ มีระยะสูงสุด 10 ปี โดยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคดีทางเพศ ตามมาตรา 276, 284, 277, 278, 279 และ 283 ทวิ ส่วนกลุ่มคดีกับชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา  288, 289, 290, 297 และ 298 ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาระยะเวลาติดกำไล EM โดยมีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน โดยมีอาสาสมัครกระทรวงยุติธรรมคอยติดตาม เฝ้าระวัง หรือ ผู้อยู่ห้องควบคุมกำไล EM ช่วยดูว่า บุคคลดังกล่าวเดินทางไปยังที่ใดบ้าง

นอกจากนี้ มีคณะกรรมการประเมินพฤติกรรมผู้พ้นโทษติดกำไล EM ว่าผิดเงื่อนไขหรือไม่ หากผิดจริงจะส่งมาควบคุมตัวอีกครั้งในสถานที่กักขัง แต่ไม่ใช่ในเรือนจำ ก็จะสามารถนำตัวผู้ต้องหาไปคุมขังฉุกเฉินได้ 3 วัน และสามารถทำเรื่องเสนอต่อศาลให้คุมขังต่อได้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังว่าเปลี่ยนพฤติกรรม​หรือยัง ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที และหากมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ หรือพบว่าเสี่ยงกระทำผิดซ้ำ

ส่วนมาตรการการฉีดให้ลูกอัณฑะฝ่อนั้น เป็นมาตรการฟื้นฟู โดยให้แพทย์ดูแลว่าจะต้องกินยา ฉีดยา ซึ่งต้องได้รับการยินยอม ความต้องการทางเพศสูง อยู่ในกฎหมายที่สามารถทำได้ ผู้ต้องขังต้องยินยอมหากตกลงลดความต้องการทางเพศให้น้อยลง แลกกับการลดเวลาคุมขังในเรือนจำ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีเคสแรก และมีข้อกังวลในด้านสิทธิมนุษยชนที่ห้ามละเมิดผู้ต้องขังด้วย

ด้าน น.ส.ใจบัว ดาราสาว กล่าวว่า เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนี้เกิดขึ้นบ่อย แต่ผู้หญิงหลายคนก็ไม่กล้ามาขอความช่วยเหลือ จึงขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาช่วยเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้