กรณีที่ตกเป็นข่าวความทรุดโทรมของศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก ภายในซอยชัยพฤกษ์ 2 ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี รวมถึงสนามฟุตบอล 20,000 ที่นั่ง ที่ยังก่อสร้างยืดเยื้อมานาน 14 ปี ไม่แล้วเสร็จ หมดงบไปกว่า 774 ล้านบาท ปล่อยให้รกร้าง มีหญ้าปกคลุม สายไฟถูกรื้อทิ้งกองเกลื่อนพื้น 

สางปมร้อน! สร้างมาราธอน 14 ปี ‘สนามฟุตบอล’ ของบเพิ่ม 249 ล้านสร้างต่อเสร็จใน 2 ปี

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นำเจ้าหน้าที่กองช่าง เจ้าหน้าสำนักงานสิ่งแวดล้อม เข้าไปปรับภูมิทัศน์ ภายในศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก โดยเก็บสายไฟที่ถูกทิ้งระโยงระยางบนพื้นฟุตปาธ รวมถึงนำคนงานเข้ากำจัดวัชพืช ตามแนวลู่วิ่งออกกำลังกาย และใช้รถไถ ไถเกรดดันต้นไม้ วัชพืชที่ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ทั้งภายในสนามฟุตบอลและรอบอัฒจันทร์ ออกทั้งหมด

ซึ่งหลังจากที่ทางเมืองพัทยา นำกำลังคนเข้าปรับภูมิทัศน์ ทำให้สามารถเดินเข้าไปภายในตัวโครงการสนามฟุตบอล 20,000 ที่นั่ง ได้อย่างสะดวกขึ้น แต่พบว่า ตัวโครงสร้างบางจุดเริ่มชำรุดตามกาลเวลา มีรอยร้าวแตก มีสนิมขึ้นบ้างในส่วนที่เป็นโลหะ ส่วนบนพื้นของตัวอัฒจันทร์นั้น พบว่ามีคราบตะไคร่น้ำ ทำให้เกิดความลื่น ทางเจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจสอบด้วยความระมัดระวัง บางจุดภายในตัวอาคารส่วนประกอบ ยังมีน้ำรั่วไหลลงมาขังอยู่ภายในอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า มีฝาท่อระบายที่เป็นเหล็กยังถูกคนร้ายแอบเข้าลักขโมย สูญหายไปจำนวนหลายจุด

นายมาโนช รองนายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า สนามกีฬาแห่งนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2551 โครงการที่ 1 และโครงการที่ 2 ผ่านไปได้ด้วยดี จะเริ่มมีปัญหาในช่วงโครงการที่ 3 ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา คือผู้รับจ้างและผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ แล้วมีปัญหาภายในกัน ส่งผลให้โครงการไม่แล้วเสร็จตามสัญญา สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงยกเลิกสัญญาไปในปี 2554 หลังยกเลิกสัญญา ก็เร่งหาผู้รับจ้างใหม่ หวังจะสร้างเสร็จให้ทัน แต่ระหว่างนั้น ผู้รับจ้างได้ยื่นอุทธรณ์ตลอดเวลา ทำให้เกิดความล่าช้าในการยกเลิกสัญญาไปอีกทางหนึ่ง 

รองนายกพัทยา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้ยกเลิกสัญญาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ใช้เวลาพอสมควร ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้รับจ้างก็ต้องรับผิดชอบด้วย โดยยึดเงินประกันสัญญามา และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับจ้างที่ทิ้งงานไป ซึ่งเมืองพัทยาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เข้ามาดูแลพื้นที่สนามกีฬาพัทยา เพื่อหวังให้รองรับในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และเอเชี่ยนเกมส์ ประมาณปี 2568 และมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้สนามแห่งนี้ จึงเข้ามาปรับภูมิทัศน์รอบนอกของสนามแห่งนี้ จะเห็นได้ว่าอาคารส่วนประกอบ ลู่วิ่งสามารถใช้งานได้แล้ว และจะให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ออกกำลังกายกันต่อไป

ส่วนด้านความปลอดภัยนั้น หลังจากที่ยกเลิกสัญญาไปแล้วนั้น ความรับผิดชอบจะอยู่กับเมืองพัทยาทั้งหมด จึงได้จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ในการดูแลทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ที่ผู้รับจ้างได้ทิ้งไว้ เป็นหน้าที่ของเมืองพัทยาที่จะดูแลต่อไป ทั้งยังจะได้ช่วยกันดูแลความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการสถานที่แห่งนี้ด้วย

นายมาโนช เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของโครงการนี้ ดำเนินการผ่านไปอย่างละนิดละหน่อย จึงแยกไม่ออก เช่น พื้นผิวสนามฟุตบอลยังไม่ได้ทำ ส่วนที่เป็นอาคารหลังคาคลุม ทำได้เพียงเฉพาะโครงสร้าง แต่ยังไม่ได้สร้างส่วนคลุม ถ้าคิดที่แล้วเสร็จน่าจะประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจะเสร็จทันภายในสองปีนั้น ทางเมืองพัทยา ได้ตั้งงบประมาณปี 2565-2567 หากไม่ติดอุปสรรคอะไรอีก เชื่อว่าจะบริหารสัญญานี้ได้ และทางเมืองพัทยา จะทำเรื่องการจัดตั้งงบประมาณเข้าสู่สภาก่อนเดือนตุลาคมนี้ เพื่อกันงบประมาณให้ใช้ได้ในปีหน้าก่อน โดยจะแบ่งเป็น 3 โครงการ 3 ปีงบประมาณ เพื่อให้เกิดสนามแห่งนี้ให้ได้ แต่สนามแห่งนี้ ยังไม่มีอุปกรณ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ เรือนพักสำหรับนักกีฬา สถานที่สำหรับฝึกซ้อม ซึ่งก็จะต้องขอใช้งบประมาณอุดหนุนของรัฐบาลกลาง เพื่อเข้ามาทำในปี 2567 ต่อไป