เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ก.ย. ณ ห้องประชุมด้านหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว คณะหลอมรวมประชาชนโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์  นายนิติธร ล้ำเหลือ และคณะ จัดเสวนา “นับหนึ่งประเทศไทย ด้วยอธิปไตยของปวงชน หลัง 30 กันยายน”  โดยนายเจษฎ์ โทณะวณิก  ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวตอนหนึ่งว่าตนไม่สามารถเอาเรื่องที่พูดคุยในห้องประชุมร่างรัฐธรรมนูญออกมาพูดได้ เพราะดี ไม่ดีอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งนี้วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีนั้น มีการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 57 ไว้แต่ตีความว่า 8 ปีแล้ว เว้นวรรคแล้วกลับมาเป็นอีกได้ ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ก็หยิบจากตรงนั้นมาใส่ และปรับว่าจะเป็นรวมกัน 8 ปีไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 30 ก.ย.นี้ ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใดต้องมีคนไม่พอใจอยู่แล้ว แต่ต้องมาดูต่อว่าสุดท้ายแล้วอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของใคร เป็นของประชาชนหรือไม่  

หากศาลนับตั้งแต่ปี 57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดจากการเป็นนายกฯ แต่ปัญหาอธิปไตยของปวงชนก็ไม่จบ และต้องไปเลือกนายกฯ ใหม่จากบัญชีที่มีที่พอจะเลือกกันได้คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ แต่จะมีการถกเถียงกรณีนายชัชชาติออกไปเป็นผู้ว่ากทม.แล้ว คุณหญิงสุดารัตน์ก็ย้ายพรรคจะทำได้หรือไม่ อย่างไร แล้วถ้าให้สภาเลือกคนนอกก็จะเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะออกตัวว่าไม่ได้เป็นคนทำรัฐประหาร แต่อย่าลืมว่าอยู่ใน คสช.ด้วยเช่นกัน ถ้าศาลฯนับปี 60 จะมีปัญหาอำนาจอธิปไตยก่อนหน้านั้นเป็นของใคร ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ รักษาการสามารถยุบสภาได้ ตั้งรัฐมนตรีได้ และมีปัญหาเชื่อมโยงการเลือกตั้ง  สุดท้ายถ้าศาลฯนับที่ปี 62 แปลว่าจะนับเมื่อมีการเลือกตั้ง จะมีคำถามว่าแล้วการเป็นนายกฯก่อนหน้านั้นมาได้อย่างไร ทำไมถึงไม่นับ อีกทั้งหลังจากนี้ก็ยังลงสมัครได้ ก็จะกลับมาอีก   

“ที่สุดการเลือกตั้งของท่านจะนำมาซึ่งอะไรในเมื่อยังมีสิ่งเหล่านี้ทำอยู่ ท่านก็อาจต้องไปคิดว่าท้ายที่สุดแล้วปัญหาอยู่ที่ไหนแล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่โดยรวมคงต้องแก้กันด้วยสันติ ส่วนตัวไม่ได้มองว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ต้องระวังเพราะทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดยเฉพาะหากเกิดความรุนแรง จะมีคนได้รับผลลัพธ์ สุดท้ายกลายเป็นเอาคนกลุ่มหนึ่งออกไปได้ แล้วได้คนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามา เหมือนพลวัตปี 19 นำมาสู่เหตุการณ์ปี 35 เหตุการณ์ปี 35 ก็นำมาสู่ปี 49 สิ่งที่เกิดขึ้นปี 49 นำมาซึ่งปี 57 นั่นเท่ากับว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุมและเกิดความรุนแรง จะมีคนคอยตีกินอยู่ ดังนั้นทำอย่างไรให้พลังยังคงอยู่ อยู่ในมือประชาชนแท้จริง อย่าให้มีการตีกินอีกรอบ” นายเจษฎ์  กล่าว

ทางด้าน นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  ผอ.หลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า  วันนี้อำนาจอธิปไตยของปวงชนกักขังไว้ใจกรงตลอด  ดังนั้นเราต้องให้คนคุมอำนาจเจ้าของกรง หลุดไปจากอำนาจ คือ พล.อ.ประยุทธ์  แต่อีก “2 ป.” ก็ยังอยู่ ใช้กลไก เหล่านี้เป็นเครื่องมือกัก ขังอำนาจ อธิปไตยเพราะฉะนั้นทางเดียวคือร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชน  แต่เขาก็มีกลไก ขัดขวางคือ ส.ว.  แต่ที่น่าเจ็บใจคือพวกคนที่เราเลือกเข้าไป พรรคการเมืองบางพรรค ดันไปสมคบ ส.ว.กักขังอำนาจอธิปไตยปวงชนเอาไว้   ช่วงนี้ทำไมประชาชนไม่ออกมาขับไล่ ทั้งๆที่คนก็ไม่ได้เอาพล.อ.ประยุทธ์แล้ว โดยผลสำรวจนิด้าพบว่า คนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มี 11% ไม่เอากว่า 90% แต่ทำไมพล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ได้ อาจเป็นไปได้ว่ากว่าสิบปีคนชั้นกลางไม่อยากออกมาขับไล่ เพราะออกมาก็ได้คนแบบเดิมๆ เข้ามา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร  ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จึงไม่อยากออกมา

“หลังจากนี้ไปพรรคร่วมรัฐบาลการทำงานคงคาดหวังไม่ได้ เพราะรอเวลาที่ยุบสภา แล้วจะเห็นจากปัญหาพรรคภูมิใจไทย เรื่องกัญชา  และวันนี้ถือว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในสมการทางการเมืองแล้ว นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่ วันนี้สภาพเหมือนยาหมดอายุ” นายพิชาย กล่าว

ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  อดีตรมว.คลัง  กล่าวว่าตนมองว่าผลวินิจฉัย 8 ปี นายกรัฐมนตรีจะต้องยึดเอาความสงบทางการเมืองและทางออกประเทศเป็นหลัก  โดยวันที่ 30 ก.ย.นี้ เราต้องนับ 1 ประเทศไทย เพราะ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาหลายอย่างมากมาย 5 เรื่องใหญ่ๆดังนี้  1. เป็น 8 ปีที่เลี้ยงความขัดแย้งในสังคมจากอแนวราบ มาเป็นแนวนิ่ง ซึ่งลึกลงเรื่อยๆ  2.เอาคนทำงานเน้น ความน่าไว้วางใจ ซื่อสัตย์ และพรรคพวกของตัวเอง แต่ไม่ได้เน้นความสามารถ  ไม่เปิดใจฟังความขัดแย้ง เหมือนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถ้าไม่นับ 1 ประเทศหมดหวัง  3. เป็น 8 ปีที่ปิดประตูไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เสนอนโยบาย หรือสะท้อนปัญหา ใครที่จะเข้าไปพบท่านกลายเป็นพวกทีปัญหาหมด เพราะท่านอยู่ใน “คอหอย งาช้างเลี่ยมทอง” ที่ลอยสูงอยู่ในอากาศ 4.ท่านมีลีลาศ แสดงอาการรำ เสมือนว่าจะปฏิรูป แต่ผ่านไป 8 ปี ไม่เห็นจะเกิดสักรายการ 5.เรื่องการทำนโยบาย มีการชั่งน้ำหนักระหว่างประชาชนกับนายทุน  ซึ่งให้น้ำหนักนายทุนมากไป ดังนั้นถึงเวลาต้องรื้อนโยบาย คืนกำไรนายทุนมาให้ประชาชนและต้องทำนโยบายเอาประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง