เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อ.เมืองสกลนคร นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นำพุทธศาสนิกชนที่ต่างแต่งกายด้วยผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์จังหวัดสกลนคร และผ้าไทย ร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันออกพรรษา ประจำปี 2564 เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม

ขณะที่ภายในวัดอุดมธานี พระอารามหลวง ต.บ้านใหญ่ อ.เมืองนครนายก นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รอง ผวจ.นครนายก (รรท. ผวจ.นครนายก) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยข้าราชการ จ.นครนายก ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ พ่อค้า และประชาชนเป็นจำนวนมาก ร่วมกันตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ 20 รูป มีพระครูปริยัติโพธิสุนทร เจ้าคณะอำเภอเมืองนครนายก เป็นประธานสงฆ์ เนื่องในวันออกพรรษา

ส่วนที่ วัดพระธาตุดอยกองมู นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางจิราภรณ์ โมสิกรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำหัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชนชาวแม่ฮ่องสอน และนักท่องเที่ยวร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในวันออกพรรษา โดยมีพระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู นำพระสงฆ์จำนวนกว่า 130 รูป รับบิณฑบาตสองข้างทางเดิน มีประชาชนชาวแม่ฮ่องสอน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเฝ้ารอตักบาตรจำนวนกว่าพันคน

บรรยากาศที่ จ.เชียงใหม่ ในวันออกพรรษา พบว่าได้มีประชาชนชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมสืบสานประเพณีวันออกพรรษาพากันเข้าวัดทำบุญตานขันข้าว อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ และเพื่อความเป็นศิริมงคลกับครอบครัว โดยที่วัดท่าเดื่อ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีชาวบ้านในชุมชนนำสำรับกับข้าวอาหารคาวหวานมาร่วมทำบุญตานขันข้าวตามประเพณีชาวล้านนา ตานขันข้าวหรือถวายทานอาหาร นำอาหารคาวหวานมาถวายเพลพระสงฆ์ และส่วนหนึ่งก็จะนำมาใส่บาตรที่หน้าวิหารหลัก โดยแยกอาหารคาวหวาน และข้าวเหนียวใส่บาตรแยกกัน เพื่อที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับให้ได้รับอานิสงส์ผลบุญ ก่อนที่จะร่วมกันตักบาตร ใส่ขันดอกด้วยข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อทำบุญให้กับตนเอง และครอบครัว หลังจากนั้นก็ร่วมกันรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต

ส่วนบรรยากาศการทำบุญวันออกพรรษา ที่วัดบ้านพาสน์ ต.บ้านโพ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณวัดถูกน้ำท่วมทั้งหมดสูงประมาณ 1.50 เมตร ทางวัดได้ทำสะพานไม้ จากกุฏิพระสงฆ์ และทางเข้าวัดไปที่ศาลาการเปรียญ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนรอบวัดบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูง ด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชาวบ้านยังมุ่งมั่นที่จะเดินทางมาทำบุญ บางคนต้องพายเรือฝ่ากระแสน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลเชี่ยว เพื่อมาทำบุญวันออกพรรษา บางส่วนพายเรือออกจากชุมชน จอดเรือไว้ริมถนนแล้วเดินสะพานไม้ไปที่ศาลการเปรียญ ด้วยความลำบากเนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ

ด้าน จ.พิจิตร ชาวบ้าน บ้านย่านยาว หมู่ 8 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ได้พายเรือเดินทางมาร่วมทำบุญในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่วัดย่านยาว ต.วังจิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งไหลเข้าท่วม บ้านเรือน และบริเวณวัด เพื่อสืบสานการทำบุญในช่วงวันออกพรรษา