นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การประชุมและจัดแสดงสินค้าปลาทูน่าโลก ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมมาแล้ว 9 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปลาทูน่า เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีห่วงโซ่คุณค่าทางการค้าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2564 มีรายงานจาก Global Tuna Production and Trade ว่าปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของโลกมีจำนวนมากถึง 2.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 317,800 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยนั้นมีปริมาณการนำเข้าประมาณ 720,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณการนำเข้าของโลก และมีปริมาณการส่งออกประมาณ 495,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของปริมาณการส่งออกของโลก ด้านอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่แปรรูปแล้วไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 68,145 ล้านบาท

สำหรับด้านการค้าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าและทรัพยากรปลาทูน่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของปลาทูน่าต่อระบบเศรษฐกิจโลกและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการสนับสนุนการจัดการประชากรปลาทูน่าร่วมกัน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรจัดการประมงปลาทูน่า ระดับภูมิภาค (Tuna-Regional Fisheries Management Organisations: T-RFMOs) อาทิ การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกการจัดการทรัพยากรประมงปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) และความร่วมมือด้านการประมงในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (Western and Central Pacific Fisheries Commission: WCPFC) ตลอดจนการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐเจ้าของธง (flag state) รัฐเจ้าของท่า (port state) และรัฐชายฝั่ง (coastal state) นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ให้ภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคี ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) เมื่อปี 2559 เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาล ในการนำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยถือเป็นการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคประมงของประเทศให้ไปสู่การเป็นประเทศที่ปลอดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU-Free Thailand)

ปัจจุบันประเทศไทยได้นำมาตรการ PSMA มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำก่อนที่จะอนุญาตนำเข้าประเทศ โดยการนำมาตรการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) มาใช้ร่วมกับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Traceability) เพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าและทรัพยากรปลาทูน่า รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ถูกสุขอนามัยและได้มาตรฐานสากล เพื่อให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนภายใต้ SDG 14

การจัดการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมทางด้านวิชาการและการค้าปลาทูน่าของโลกที่ใหญ่ที่สุด และถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปลาทูน่าในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปลาทูน่าอย่างรอบด้าน อาทิ ความรู้ทางวิชาการ สภาวะทรัพยากรปลาทูน่าทั่วโลก การบริหารจัดการทรัพยากรปลาทูน่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การกำหนดมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ การค้าและการตลาด ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในเชิงธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภายในงาน อันจะยังประโยชน์ให้นําไปสู่การปรับตัว และสร้างความเข้าใจร่วมกันของอุตสาหกรรมปลาทูน่า รวมไปถึงเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลก.