เมื่อวันที่ 5 ม.ค.67 นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร-เพชรบูรณ์ เปิดเผยกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าตนพร้อมด้วยบริษัทอัคราฯ และพวกรวม 4 ราย ถูกอัยการสั่งฟ้องดำเนินคดีฐานครอบครองที่ดินรัฐ-ออกโฉนดทับที่ป่า-สร้างตะแกรงรุกล้ำทางหลวง โดยมีผู้ต้องหาชาวออสเตรเลีย 1 ราย หลบหนีไปแล้วนั้น

เรื่องดังกล่าวตนกับพวกพร้อมต่อสู้คดีในชั้นศาล ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยตั้งแต่มีข่าวออกมา 4 วัน ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องคดีแต่อย่างใด และตั้งแต่เหมืองทองคำอัคราถูกหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 (ม.44) สั่งปิดเมื่อปลายปี 59 พวกเราชาวเหมืองทองคำอัคราก็เจอคดีกันมาตลอด จึงไม่แน่ใจต่อจากนี้จะเจอคดีเกี่ยวกับป่าไม้ คดีต่างด้าวอีกหรือไม่ จึงต้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลและหน่วยงานรัฐด้วย

สำหรับเรื่องคดีนั้น เหมืองทองคำอัคราครอบครองที่ดินไม่ต่ำกว่า “น.ส.3” ออกมาเมื่อปี 2513-2516-2519 ต่อมามีหน่วยงานรัฐมาออกประกาศเป็นเขตป่าไม้ถาวรในปี 2527 แบบนี้ออกทับน.ส.3 หรือไม่? ส่วนเรื่องสร้างตะแกรงรุกล้ำทางหลวง ต้องเข้าใจสภาพถนนในแต่ละภูมิประเทศไม่เหมือนกัน แต่ก่อนจะทำอะไร เราขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของถนนก่อนแน่นอน โดยมีหนังสือยืนยัน

รวมทั้งกรณีที่ว่าผู้ต้องหา 1 คนหลบหนีนั้น เขาเป็นชาวออสเตรเลีย มาทำงานแค่ปีเดียว เมื่อหมดสัญญาจ้างเขาก็กลับบ้าน เราจึงทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าเหมืองไม่มีลูกจ้างต่างด้าวคนดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.58 ก่อนมีการสอบสวนและกล่าวหา เรื่องราวคร่าวๆ เป็นแบบนี้ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดไปว่ากันในศาล

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างทางการไทยในอดีต กับคิงส์เกตจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอัคราฯ โดยมีการเลื่อนคำชี้ขาดมาแล้วหลายครั้ง นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบมีความพยายามที่จะให้ถอนคำชี้ขาดออกไป (ถอนฟ้อง) แต่ทางออสเตรเลียมองว่ายังมีบางเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เรื่องนี้จึงยังไม่ถอนฟ้อง

“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าข้อพิพาทกรณีถูกมาตรา 44 สั่งปิดเหมือง ใครจะแพ้ หรือชนะ ไม่รู้จริงๆ ว่าเรียกค่าเสียหายกันกี่หมื่นล้านบาท เพราะผู้เกี่ยวข้องทางออสเตรเลียเป็นคนส่งหนังสือถึงอนุญาโตตุลาการโดยตรง แต่ผมในฐานะที่เป็นพยาน 1 ปาก ยอมรับว่าข้อพิพาทนี้ทางการไทยเสียเปรียบมาก เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีข้อมูลทางวิชาการ ไม่มีเอกสารยืนยัน แล้วอนุญาตให้กลับมาเปิดเหมืองอีกเมื่อเดือนมี.ค.66 แบบนี้หมายความว่าอะไร? หลังจากเปิดมาแล้วกว่า 9 เดือน มีหลายหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบ มีเอกสารยืนยันไม่ได้มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผมขอยืนยันอีกครั้งก่อนเหมืองถูกสั่งปิดเมื่อปลายปี 59 จนถึงปัจจุบัน พื้นที่บริเวณเหมือง และรอบๆ เหมือง ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับดิน-น้ำ-น้ำใต้ดิน-ฝุ่น-อากาศ”

นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นมาก่อนรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ แต่ตนและบริษัทอัคราฯต้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลนี้ด้วย เพราะไม่มีนักลงทุนที่ไหนต้องการไปสู้รบตบมือกับภาครัฐหรอก ตนและบริษัทอัคราฯ พร้อมไปอธิบายชี้แจงเรื่องราวต่างๆ กับนายกฯ หรือคนที่นายกฯ มอบหมายอย่างชัดเจน ส่วนตัวรู้สึกชื่นชมนายกฯ ที่ขยันออกไปเชิญชวนชาวต่างชาติมาลงทุนในไทย ดังนั้นจึงไม่อยากเห็นรัฐบาลปัจจุบันได้รับความเสียหายจากเรื่องราวในอดีต

ทางด้าน นายเจมี่ กิ๊บสัน กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ที่มีการให้ข่าวเรื่องการสั่งฟ้องทางสื่อฯ โดยไม่ได้แจ้งให้บริษัทหรือผู้ต้องหาทราบล่วงหน้า ในขณะที่ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท มีการประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ณ วันนี้บริษัทยังไม่ทราบจากอัยการโดยตรงว่าสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งอาจจะทราบในวันที่ 24 ม.ค.67 ตามที่นัดไว้ และได้ตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เนื่องจากวันที่มีข่าวออกมายังเป็นวันเดียวกับบริษัทคิงส์เกตและรัฐบาลไทยจำเป็นต้องตัดสินใจเลื่อนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย.67

สำหรับข้อกล่าวหาตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ นั้น บริษัทมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ ถ้ามีการสั่งฟ้องเกิดขึ้นทางบริษัทจะต่อสู้คดีในศาลอย่างถึงที่สุด โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินการทำเหมืองทองคำอัคราเมื่อเดือนมี.ค.66 ได้สร้างประโยชน์ให้ชุมชนใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และอ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศอย่างมากมาย โดยเฉพาะในด้านการจ้างงานทั้งโดยตรง และผ่านการจ้างผู้รับเหมาไทย การสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ ในประเทศตามนโยบาย Buy Thai ของบริษัท การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชน และการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับภาครัฐ เป็นต้น