สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ว่า กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาออกแถลงการณ์ว่า การที่สถานการณ์ภายในประเทศยังคงตึงเครียดและวุ่นวาย เกี่ยวโยงโดยตรงกับการเคลื่อนไหวต่อต้านของบรรดากองกำลังติดอาวุธ และ “ความพยายามกดดันในรูปแบบใดก็ตาม” มีแต่จะส่งให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี โดยไม่มีการขยายความ


ท่าทีดังกล่าวของเมียนมาเกิดขึ้น หลังที่ประชุมวาระพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศ 9 ชาติ ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ในเมียนมา มีแถลงการณ์ร่วมกันว่า อาเซียนมีความมุ่งมั่นแก้ไขวิกฤติการณ์ในเมียนมา ให้คลี่คลายในทางสันติวิธี


ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังคงมีความผิดหวัง ต่อการที่รัฐบาลทหารเมียนมา “ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม” ตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางสร้างสันติภาพ และมีการบรรลุร่วมกัน เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังคงมีมติเห็นพ้อง ให้มีการดำเนินการตามแผนการดังกล่าวต่อไป และในเวลาเดียวกัน ขอเรียกร้องทุกภาคส่วน ยุติการใช้ความรุนแรงระหว่างกันโดยเร็วที่สุด


ทั้งนี้ การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ถือเป็นหนึ่งในแกนกลางนโยบายของอาเซียน อย่างไรก็ตาม นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวระหว่างการเยือนไทย เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เรียกร้องอาเซียนร่วมกันดำเนินการอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เมียนมาปฏิบัติตามเงื่อนไขของฉันทามติ 5 ข้อ “ด้วยความรับผิดชอบและเคร่งครัด” เนื่องจากจนถึงตอนนี้ รัฐบาลวอชิงตันมองว่า ความสนับสนุนและความร่วมมือของอาเซียน ในการกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อนั้น ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เรื่องนี้ “มีความสำคัญมาก”


สำหรับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ในประเด็นเกี่ยวกับเมียนมา ประกอบด้วย การที่คู่กรณีทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรง การที่ทุกภาคส่วนต้องหันหน้ามาเจรจาร่วมกันบนแนวทางอันสันติ และตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก การตั้งคณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนให้มีส่วนร่วม กับการดำเนินงานของเลขาธิการอาเซียนในเรื่องเมียนมา การเปิดทางรับมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน และการอนุญาตให้ผู้แทนของอาเซียนพบหารือกับ “ทุกภาคส่วน” ในเมียนมา.

เครดิตภาพ : REUTERS