สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา น.ส.บี (นามสมมุติ) ดำเนินการซื้อรถกระบะจากศูนย์โชว์รูมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ย่านตลิ่งชัน โดยออกรถป้ายแดง ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. ขณะอยู่บนทางด่วนบางนาบูรพาวิถี ได้ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจและถูกส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว แจ้งข้อกล่าวหา “มีและใช้เอกสารทางราชการปลอม” เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าป้ายทะเบียนดังกล่าวเป็นทะเบียนป้ายแดงปลอม ท้ายสุดถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ด้วยโทษจำคุก 5 ปี แม้ได้รับการประกันตัว แต่กลับมีคดีอาญาติดตัว ทั้งที่ซื้อรถป้ายแดงจากศูนย์ฯ อีกทั้งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องรายใดติดต่อกลับมายังผู้เสียหาย ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้วันที่ 7 พ.ย. ที่​สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก​ กทม. ภายหลังจากที่นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) และในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้นัดผู้เสียหายกับศูนย์รถยนต์ดังกล่าวมาเจรจาไกล่เกลี่ย โดยมี นายมานะ งามวัชรสกุล อัยการอาวุโส ร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาครั้งนี้นั้น

นายโกศลวัฒน์ เปิดเผยภายหลังการเจรจาว่า วันนี้มีตัวแทนจากศูนย์รถยนต์ดังกล่าว มาร่วมเจรจากับผู้ร้องขอความเป็นธรรม จำนวน 7 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย โดยภายหลังการเจรจาทั้งสองฝ่ายนั้น สำนักงานอัยการฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องให้การช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย เบื้องต้นผู้ซื้อรถยนต์ได้ตั้งข้อเสนอไว้แล้วว่า ต้องการอะไรบ้าง ต้องการให้เยียวยาอย่างไร ส่วนทางศูนย์รถยนต์ก็มารับข้อเสนอ ระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาร่วมกัน แต่มีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะตกลงกันได้ ทั้งนี้ทางฝ่ายศูนย์รถยนต์ขอกลับไปพูดคุยกับทางฝ่ายบริหารก่อนว่าจะยอมรับข้อเสนอของทางผู้ซื้อได้หรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้นัดไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ส่วนรายละเอียดการเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ต้องขออนุญาตสงวนไว้ แต่ทางผู้ซื้อก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อไว้บ้างแล้ว อาทิ ความเสียหายต่างๆ ที่ผู้ซื้อประสบ ก็ได้คำนวณมาเป็นตัวเลขเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อนำไปสู้ทางคดี ซึ่งฝ่ายศูนย์ก็ยินดีรับข้อเสนอเอาไปพิจารณา ส่วนตัวเลขความเสียหายอยู่ที่หลักแสนบาท แต่ตนไม่ขอระบุเป็นตัวเลขเชิงลึก เพราะถือว่าเป็นการเจรจากันระหว่างสองฝ่าย

นายโกศลวัฒน์ เผยอีกว่า จากการเจรจากันของทั้งสองฝ่าย สำนักงานอัยการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องการให้คดีไปถึงทางแพ่ง ไม่อยากให้มีคดีไปถึงชั้นศาล หากเจรจากันได้ก็จะนำไปสู่การยุติข้อพิพาท ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการเชิงรุกที่อัยการสูงสุดได้มอบหมาย ทำอย่างไรให้เจรจากันได้ ไม่มีการทะเลาะขัดแย้งกัน จบกันได้ด้วยดี

เมื่อถามว่า ผู้ซื้อรถยนต์มีความประสงค์จะขายคืนหรือไม่ นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า เจ้าของรถไม่ได้อยากจะขาย เพราะรถไม่ใช่ปัญหา แต่มีปัญหาแค่เรื่องป้ายทะเบียนปลอม อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานอัยการคุ้มครองผู้บริโภคอยากจะประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปว่า ถ้าป้ายทะเบียนหายอย่าไปทำป้ายติดเอง ให้ไปสำนักงานขนส่งเพื่อยื่นเรื่องทำป้ายใหม่ให้ถูกต้อง

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ซื้อรถถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา จะช่วยประสานไปยังอัยการจังหวัดสมุทรปราการอย่างไรได้บ้าง นายโกศลวัฒน์ อธิบายว่า เรื่องนี้คงต้องว่ากันต่อไป แต่ตรงนี้เป็นเรื่องพิพาทของผู้บริโภคที่ไปซื้อรถยนต์แล้วมีปัญหาเรื่องป้ายทะเบียน ดังนั้น เราเอาความจริงมาคุยกัน เพื่อหาข้อยุติกัน แต่ยืนยันว่าคดีที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถระงับได้ เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว จะต้องทำสำนวนส่งพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ซื้อรถที่จะนำเงินจากการเรียกจากศูนย์รถไปใช้ในการสู้คดีต่อไป

นายโกศลวัฒน์ ยังให้ข้อมูลแนะนำประชาชนอีกว่า กรณีซื้อรถมือสองที่เป็นป้ายขาว ให้ดูว่า ป้ายทะเบียนที่ติดรถมานั้นมีลักษณะดังนี้หรือไม่ 1.มุมขวาล่างต้องมีวงกลมปั๊มนูน ระบุ ขส. คือ ขนส่ง 2.มุมซ้ายล่างต้องมีเลขเยอะๆ มีเลขเป็นแถวเรียง คล้ายเลขผลิต และระหว่างตัวเลขทะเบียนกับตัวอักษรจังหวัดมันจะมีลายน้ำเส้นคล้ายๆ งูเลื้อย หากไม่มีจะเป็นป้ายที่ไม่ถูกต้อง แม้เป็นป้ายแดงหรือป้ายขาวก็ตาม ต้องดำเนินการแจ้งขนส่งของป้ายใหม่ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนก็คงต้องขอความร่วมมือร่วมกันจากทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ศูนย์ขายรถยนต์เองก็ต้องระวังเพื่อผู้บริโภค และผู้บริโภคเองก็ต้องรู้และระวังเพื่อไม่นำป้ายทะเบียนปลอมมาใช้ ซึ่งต่อไปทางสำนักงานอัยการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังการเจรจา ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มาติดตามรายงานข่าวแต่อย่างใด