เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ เรื่องสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ว่า มีผู้หญิงครั้งครรภ์ติดเชื้อสะสม 2,327 ราย เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 50-60 รายต่อวัน เสียชีวิต 53 ราย มีทารกเสียชีวิต 23 ราย จังหวัดที่มีการติดเชื้อค่อนข้างเยอะคือจังหวัดควบคุมเข้มข้นสูงสุด การฉีดวัคซีนยังค่อนข้างน้อยวันนี้สตรีมีครรภ์ฉีดประมาณ 20,000 คน จากการตั้งครรภ์ปีละ 500,000 ราย ดังนั้นมีการฉีดไม่ถึง 10% วิเคราะห์พบว่าสตรีมีครรภ์ที่เสียชีวิต 53 รายส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวที่พบมากคือแม่อายุเยอะเกิน 35 ปีมีโรคเบาหวานความดันสูงมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ธาลัสซีเมียอ้วนและใช้สารเสพติดในกลุ่มที่เสียชีวิตมีประวัติฉีดวัคซีน 22 ราย นอกนั้นยังไม่ได้ฉีดเลย ส่วนคนที่ฉีดแล้วเพิ่งจะฉีดได้ไม่กี่วันก็ติดเชื้อก่อนทั้งนี้การติดเชื้อเสียชีวิตครึ่งหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว หากมีความเสี่ยงคนในครอบครัวติดโควิด ควรรับการตรวจหาเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการ เบื้องต้นควรตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนได้เลย กรณีหญิงตั้งครรภ์อาการสีเขียวสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ หากอาการเปลี่ยนแปลงก็เข้าระบบการรักษาต่อไป

นพ.เอกชัย กล่าวว่า ทั้งนี้สตรีมีครรภ์ติดเชื้อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อพบว่า มีโอกาสเข้า ICU สูงถึง 2-3 เท่า ใช้เครื่องหายใจสูง 2.6-2.9 เท่า โอกาสเสียชีวิตตัวเลขในประเทศไทย 1.5-8 คนใน 1,000 คน ถือว่าค่อนข้างสูง ปัจจัยที่ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตคือ อ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ตายคลอด 2.8 เท่า ทารกมีโอกาสเข้าไอซียู 4.9 เท่า โอกาสที่ทารกติดเชื้อ 3.5% แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ปัจจุบัน สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อและมีการคลอดลูกนั้นพบว่าครึ่งหนึ่งผ่าคลอด อีกครึ่งหนึ่งคลอดธรรมชาติ สำหรับกรณีติดเชื้อหลังคลอด ถ้ากลุ่มสีเขียวสามารถกอดหรืออุ้มลูกได้ ให้นมจากเต้าได้ แต่ต้องสวมหน้ากากตลอด ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสลูก เช็ดทำความสะอาดหัวนม และลานเต้านมด้วยน้ำอุ่น งดหอมแก้ม หากมีอาการไอจาม อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดลูก เลี่ยงดูดนมจากเต้า แต่ให้ปั๊มนมใส่ถุงให้ญาติป้อน ส่วนคนที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องงดให้นมลูก เพราะยาขับออกมาทางน้ำนมได้

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม กรณีหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์นั้น อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปขอให้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งคำแนะนำจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มีหลายสูตร คือ 1. เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา 2. สูตรแอสตราฯ 2 เข้ม 3. สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ทั้งนี้กรณีจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดคือสูตรที่ 1 ซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตราฯ เป็นเข็มที่ 2 เพราะใช้เวลาห่างระหว่างเข็มแค่ 3 สัปดาห์ และเกิดภูมิหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 2 ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 3 ไฟเซอร์ เข้ามาไม่เยอะ ยังไม่เยงพอต่อการฉีดหญิงตั้งครรภ์ที่มีกว่า 500,000 คน อีกทั้งยังต้องฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 ด้วย สำหรับผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล คนที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรก จะมีอัตราการแท้งตามธรรมชาติ 10-12% จึงให้เลี่ยงการฉีดวัคซีนในไตรมาสแรก เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจว่าแท้งจากวัคซีนหรือไม่

ทั้งนี้ขอให้หญิงตั้งครรภ์เน้นการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครร์ที่มีภาวะเสี่ยง .