ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดสระมณี” อย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้ และนี่คือหนึ่งในวัดที่อยู่ในเส้นทางสายมู “นคราธานี” ดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ

ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า วัดสระมณีสร้างขึ้นเมื่อใด ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกกันว่า วัดแห่งนี้มีความเก่าแก่นับร้อยปี บ้างก็ว่าเคยเป็นวัดร้างมาก่อนและได้รับการบูรณะ หลังจากมีหมู่บ้านผักตบเกิดขึ้น ส่วนหนังสือประวัติของวัดระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2338 แต่ไม่ว่าวัดแห่งนี้จะสร้างขึ้นเมื่อใด ความสวยงามอลังการโดยเฉพาะพญานาค 4 ตระกูล ที่ล้อมรอบอุโบสถทั้งทางขึ้น ทางลง ทางเข้า ทางออก ล้อม 4 ทิศ ได้แก่ พญาวิรูปักข์นาคราช พญานาคตระกูลสีทอง, พญาเอราปถนาคราช พญานาคตระกูลสีเขียว, พญาฉัพพยาปุตตนาคราช พญานาคตระกูลสีรุ้ง และพญากัณหาโคตมนาคราช พญานาคตระกูลสีดำ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนที่มีความศรัทธาในพญานาคเดินทางมาสักการะเพื่อขอโชคลาภ

อุโบสถที่ได้รับการบูรณะจนแล้วเสร็จและกำลังจะมีพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตในวันที่ 5 มีนาคม 2566 นี้ ภายในประดิษฐาน “พระพุทธพิบูลธนาภิรมย์” พระประธานที่ได้รับประทานนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขนาดหน้าตักกว้าง 60 นิ้ว มีความศักดิ์สิทธิ์มาก จึงมักมีคนมากราบไหว้และขอพรให้สมปรารถนา

ข้าง ๆ พระอุโบสถคือ หอปู่โคตร ที่เชื่อกันว่าอยู่คู่กับวัดสระมณีมาตั้งแต่ก่อตั้งวัด โดยเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งทางใจของผู้คนในหมู่บ้านผักตบ ทั้งขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้สอบเข้าหรือได้เลื่อนขั้น ว่ากันว่าแต่เดิมไม่มีองค์อะไรเป็นที่บูชา จน ผู้ใหญ่บ้านคำมี อินทร์อำคา พร้อมด้วยบุตรธิดา ได้นำองค์พระพุทธรูปองค์แรกมาถวายให้ทางวัด เพื่อนำมาตั้งไว้ให้เป็นที่บูชาแทนองค์ปู่โคตร อย่างที่เห็นในปัจจุบัน วันนี้นอกจากชาวบ้านในพื้นที่ คนภายนอกที่เดินทางมาเยือนวัดสระมณีมักจะบนบานขอโชคลาภจากปู่โคตร ด้วยเช่นกัน

นอกจากวัดสระมณีแล้วมาถึงอุดรธานี จะต้องไปสักการะ พระพิฆเนศวร “องค์ศรีสุขคเณศ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ 9 ของชาวจังหวัดอุดรธานี ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก รังสรรค์ขึ้นโดย อ.ราชัน แสงทอง ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาจากแนวคิด “ศรัทธาแห่งความสำเร็จ” เป็นการนำพระพิฆเนศวรมาผสมผสานพลังศรัทธาพ่อปู่ศรีสุทโธ เป็นมหามงคลแห่งความสุข ความสำเร็จทั้งปวง โดยตั้งอยู่ข้างรั้วด้านหลังของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี

พระพิฆเนศ 8 กร ปางนาคปรก 9 เศียร แต่ละกรจะทรงถือสิ่งของแปดอย่าง แต่ละอย่างแฝงความหมายตาม “มรรคแปด” เป็นหนึ่งใน 4 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของโครงการ “มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง” ซึ่งประกอบด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก 3 สิ่ง คือ ท้าวเวสสุวรรณ ที่ศาลหลักเมือง กล่าวกันว่า การขอพรจากท้าวเวสสุวรรณให้ได้ผลมากที่สุดคือ การขอให้ศัตรูหมู่มารทั้งหลาย หรือผู้ที่คิดร้ายกับเราแพ้ภัยตัวเอง หรือกลับมาเป็นมิตร เคล็ดลับในการไหว้ขอพรคือ ขอพรแล้วให้ลูบกระบองของท้าวเวสสุวรรณด้วย

อีกแห่งคือ อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่ตั้งอยู่กลางเมืองอุดรธานี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรฯ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 นอกจากจะเป็นที่เคารพสักการะในฐานะผู้ก่อร่างสร้างเมืองแล้ว คนอุดรฯ ยังมักมาขอพรเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ความก้าวหน้า การสอบเข้ารับราชการทหาร ตำรวจ รวมถึงการสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อ โดยมีเคล็ดลับคือการตั้งจิตอธิษฐานบนบานพระองค์ท่าน ด้วยการวิ่งแก้บนรอบอนุสาวรีย์ฯ

สุดท้ายคือ ศาลเทพารักษ์ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องโชคลาภไม่แพ้ที่ใด โดยอัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มาสถิต ณ ศาลแห่งนี้ เพราะเชื่อกันว่าดวงพระวิญญาณยังคุ้มครองปกปักรักษาลูกหลานคนอุดรฯ เสมอมา โดยมีเคล็ดลับในการขอพรคือ การกลั้นหายใจเวลาขอพรจะทำให้มีโชคลาภทั้งด้านการเงินและการงานต่าง ๆ

นอกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามเส้นทางสายมูแล้ว แนะนำให้แวะไปที่ “พิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย” ที่เกิดขึ้นจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของ ฆรณี แสงมณี พุทธศาสนิกชนผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนและอุปัฏฐากพระอริยสงฆ์มาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี โดยได้รับมอบอัฐิธาตุ เกศาธาตุ และอังคารธาตุ ของพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงแปรเป็นพระธาตุ จึงได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น เพื่อบูชาคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระอริยสงฆ์ รวมทั้งให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้กราบไหว้สักการบูชา

ภายในอาคาร ห้องโถงใหญ่เป็นการจัดแสดงอัฐิธาตุ เกศาธาตุ และอังคารธาตุ ของพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศไทย ทั้งที่ได้ละสังขารแล้วและยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 400 องค์ อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่จันทร์ ศรีจันททีโป, หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่อินทร์ถวาย สันตัสสโก เป็นต้น ห้องด้านในที่มีบุษบกเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถกราบไหว้ขอพรและนั่งสมาธิได้ด้วย

กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จนทั่วแล้ว หากมีเวลาเหลือ แนะนำให้ออกไปเยี่ยมเยือน “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” กลุ่มผ้าทอที่เริ่มต้นขึ้น หลังจาก อภิชาติ พลบัวไข ลูกหลานบ้านโนนกอก ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอาชีพชาวบ้านคือ การทอผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านโนนกอก ในปี พ.ศ. 2556 ภูมิปัญญาที่มาจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และในตำบลหนองนาคำ ที่ยังคงทอผ้าแบบโบราณด้วยกี่ และย้อมด้วยสีธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น

หลังจากนั้นจึงเริ่มนำผ้าทอจากชุมชนไปเสนอขายหลากหลายแห่ง แต่ไม่มีใครสนใจ ด้วยความที่เป็นลวดลายแบบโบราณ จนมีโอกาสได้ทดลองไลฟ์สดขายผ่านเฟซบุ๊ก และขายผ้าผืนแรกได้ในราคา 800 บาท จึงนำมาสู่การเริ่มตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้น ตั้งใจที่จะนำผ้าทอของชาวบ้านออกจำหน่าย แต่ได้ปรับเปลี่ยนมาสู่หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวด้วย หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี เข้ามาสนับสนุน

จากนั้นผ้าทอจึงกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชน แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้ผู้คนเดินทางมาเที่ยวไม่ได้ ชุมชนจึงไลฟ์สดเพื่อประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง จึงมีผู้คนมากมายมาเยี่ยมเยือน นอกจากจะได้เรียนรู้การย้อมไหมย้อมฝ้ายด้วยสีจากดอกบัวแดงที่หนองนาคำ ซึ่งให้สีหลากหลายเพียงใช้วิธีการที่แตกต่างกันแล้ว ยังได้รู้จักกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ รวมทั้งลิ้มลองอาหารรสเด็ดจากฝีมือของชาวบ้านด้วย

ก่อนตบท้ายด้วยการแวะไปถ่ายรูปกับทุ่งดอกไม้หลากสีสันที่สลับสับเปลี่ยนไปแต่ละห้วงเวลา ณ “สวนแบงค์เบญจมาศ Flower Cafe” พื้นที่กว่า 20 ไร่ ถูกแบ่งแปลงย่อยเพื่อปลูกดอกไม้ต่างชนิด เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสบรรยากาศที่แตกต่าง ทั้งคัตเตอร์ขาว คัตเตอร์ม่วง มาร์กาเร็ตม่วง คอสมอส ทานตะวัน เบญจมาศ ดาวเรือง หงอนไก่ ไปจนถึงดอกเก๊กฮวย และดอกหญ้าด้วย จากอดีตคนปลูกดอกไม้ขาย ผันตัวมาสู่การปลูกดอกไม้เพื่อให้คนมาเที่ยวแทน โดยมีคาเฟ่มาเป็นอีกส่วนเสริม ใครอยากแชะแล้วแชร์แบบฟิน ๆ แนะนำให้ไปช่วงเช้าหรือบ่ายแก่ ๆ ออกจากเมืองอุดรฯ มุ่งหน้าไปทางเขื่อนห้วยหลวง ไม่ถึง 20 กิโลเมตร ก็ถึงแล้ว.

อธิชา ชื่นใจ