ย่านนางเลิ้ง ยังเป็นหนึ่งในเก้าย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ที่ปีนี้จัดขึ้นในธีมเมือง-มิตร-ดี โดยแต่ละย่านมีไฮไลต์นำเสนอแนวคิด การร่วมกันสร้างสรรค์ ทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนร่วมกันพัฒนาร่วมสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมือง มิตร ดีสำหรับทุกคน

ด้วยที่ย่านนางเลิ้งมีหลายกิจกรรมให้เข้าร่วมเรียนรู้ ด้วยความโดดเด่นด้านอาหาร กินเพลิน เลินเลิ้งเป็นหนึ่งในโปรแกรมบอกเล่าเรื่องราวอาหารการกินที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชุมชนผ่านการออกแบบที่เน้นดีไซน์ เป็นหนึ่งในโปรเจคท์ เซนส์ ออฟ นางเลิ้ง บอกเล่าแนวคิดพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ อาจารย์สุถี เสริฐศรี อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพนักออกแบบอาหารกินเพลิน เลินเลิ้ง เล่าว่า พื้นที่นี้เป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญมานับแต่อดีต เป็นแหล่งรวมศิลปิน ทั้งงานด้านหัตถศิลป์ การละคร หรือแม้แต่ในเรื่องอาหาร ศิลปะชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นต่อเนื่องมา และจากที่เข้าร่วมในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นในแนวคิด เมือง มิตร ดี เป็นโจทย์หลักการออกแบบร่วมกันสร้างสรรค์

“กินเพลิน…เลินเลิ้ง เป็นหนึ่งโปรเจคท์เซนส์ ออฟ นางเลิ้ง (SENSE OF NANG LOENG) โดยในกลุ่มนี้มี 7 ผลงานแสดงจากนักออกแบบ นำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์หลายรูปแบบ อาทิ ตรอกคุณเลิ้ง เล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนนางเลิ้งเกี่ยวข้องกับการเติบโตของกรุงเทพฯ การเป็นทั้งศูนย์รวมทางวัฒนธรรมนาฏศิลป์ ดนตรี อาหาร การพัฒนาพื้นที่ ฯลฯ

ซีนออฟไลต์ ซีนออฟไลฟ์ การจัดแสดงแสงไฟ เพื่อสื่อสารถึงเรื่องราวและประสบการณ์ ใช้แสงในการสร้างประสบการณ์ใหม่กับสถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ต่าง ๆ ฯลฯ อีกทั้งมี ซาโทเรียลบอกเล่าชุมชนที่มากด้วยศิลปวัฒนธรรม ทั้งมี นางเลิ้งเมมโมรี่วอลล์ จุบจิบจับใจการดีไซน์บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่ม คอมมิวนิตีอาร์ต ศิลปะ-ชุมชน-เมือง โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมถึง กินเพลิน..เลินเลิ้งที่ได้ออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นโดยทำงานร่วมกับดารณี อาจหาญ

อาจารย์สุถี เล่าถึงการดีไซน์อาหารคาวหวานที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชุมชน บอกเล่าความเป็นชุมชนในแนวคิดเซนส์ ออฟ นางเลิ้งอีกว่า จากชื่อผลงานเราชวนสัมผัสชุมชนผ่านการเล่าเรื่องจากอาหาร ชวนเพลิดเพลินกับอาหารที่เคยคุ้นนำมาออกแบบต่อยอดด้วยความกลมกล่อม พร้อมกับเลินเลิ้งซึ่งเป็นการเรียนรู้ชุมชน

ในส่วนของอาหารดีไซน์นำเสนอออกมาเป็นคอนเซปต์ โดยแต่ละเมนูจะแฝงด้วยคีย์เวิร์ด อย่างเช่น ปั้นคำหอม เป็นขนมถั่วแปบไส้กุ้ง นอกจากขนมเมนูนี้จะบอกเล่าถึงวิธีทำขนมการปั้นแป้ง ในความเป็นไส้กุ้งที่ไม่ค่อยพบได้จากที่ไหน แต่ที่ชุมชนแห่งนี้มีอยู่ ยังนำไอเดียวัตถุดิบของดีของไทยแต่ละท้องถิ่นนำมาสร้างสรรค์ไว้ในขนม

“ขนมถั่วแปบวัตถุดิบหลัก ๆ จะมีแป้งใช้สีธรรมชาติ เกลือ นํ้าตาลมะพร้าว โดยเกลือและนํ้าตาลนำมาจากสมุทรสงคราม พริกไทยจากจันทบุรีให้ความเผ็ด ความหอม อีกทั้งกระเทียมไทย นำมาผัดไส้ ฯลฯ ทำให้ได้กลิ่น รสโดดเด่นจากวัตถุดิบเสริมให้เมนูขนมถั่วแปบที่คุ้นเคยมีความกลมกล่อม ละมุน โดยเมนูนี้นำมาดีไซน์เป็นคำเล็ก ๆ สร้างความต่างและเล่าสตอรี่น่าติดตามผ่านขนม”

นอกจากนี้ยังมี หยอดคำหวาน ขนมถ้วยใบเตยหน้าเมอแรงฆ์ นํ้าตาลมะพร้าวกับไข่แมงดาซึ่งเป็นขนมทองหยอดเม็ดเล็ก ๆ นำมาโรยหน้า โดยเมนูนี้ได้แรงบันดาลใจจากขนมถ้วยใบเตยและครีมรสหวานของขนมเบื้องไทย เป็นการมิกซ์แป้งขนมถ้วยกับหน้าขนมเบื้องไทย นำเสนอไอเดียวัตถุดิบท้องถิ่น ใช้นํ้าตาลมะพร้าวตีผสมเพื่อให้เป็นครีมนุ่มแต่รสชาติมีความเฉพาะตัว นำขนมไทยทองหยอดเม็ดเล็ก ๆ วางท็อปด้านบน เสิร์ฟเป็นคำเพื่อให้สัมผัสรสชาติความกลมกล่อม ทั้งความหวานและเค็มเล็ก ๆ ตัดกัน โดยหยอดคำหวาน ขนมถ้วยเมนูนี้ เป็นการดีไซน์อาหารออกมาใหม่

ละเลงรส เมนูขนมเบื้องกรอบสอดไส้ญวนและสเฟียร์อาจาดก็เช่นกัน เป็นขนมที่ได้แรงบันดาลใจจากขนมเบื้องไทยและขนมเบื้องญวน ที่มีการนำมาดีไซน์ใหม่ เป็นขนมเบื้องกรอบจากแป้งขนมเบื้องไทยมาผสานกับไส้ขนมเบื้องญวนที่มีความนุ่ม โดยมีนํ้าอาจาดที่เคียงกัน เสิร์ฟในรูปแบบใหม่ ๆ โดยนำวิทยาศาสตร์ทางการอาหารร่วมสร้างสรรค์สร้างความแปลกใหม่ โดยเมนูนี้จะครบจบในคำ

อีกส่วนหนึ่งมีเครื่องดื่มโดยใช้ชื่อว่า นางเลิ้งในความทรงจำ ชวนย้อนนึกถึงย่านเก่าของพระนครแห่งนี้ซึ่งแต่ละคนอาจมีต่างกันไป สำหรับที่ดีไซน์ได้นำภาพจำกล้วยข้าวเม่าทอดที่พบในย่านนี้ นำมาเป็นแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ปรุงเสิร์ฟในรูปแบบเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับนางเลิ้ง

“เครื่องดื่มแก้วนี้ใช้กล้วยไข่นำมาปรุงผสมผสานกับส่วนผสมอื่น ๆ หลายชนิด มีความหวานอมเปรี้ยว รสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยเมื่อทานกับอาหารคาวหวานจะให้ความกลมกล่อม มีความกรุบกรอบของข้าวเม่า ทั้งเสิร์ฟมาพร้อมกล้วยตากชิ้นเล็ก ๆ เพื่อตัดรสกัน เป็นอีกเมนูที่ออกแบบสร้างสรรค์ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน”

อ.สุถี บอกการดีไซน์อาหารเพิ่มอีกว่า อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าที่จะพาสัมผัสชุมชน จากโปรเจคท์จากการนำเสนอของนักออกแบบในกลุ่มจะเห็นว่าพาสัมผัสย่านนางเลิ้งในหลายมิติ การออกแบบอาหารที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อส่งต่อไอเดีย ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าชุมชนนางเลิ้งในมิติด้านอาหารมีความโดดเด่น ทั้งนี้ผู้เข้าชมนอกจากได้ร่วมเรียนรู้ ในส่วนนี้แล้วจะได้ชิมรสชาติขนม ทั้งได้ฟังเรื่องราวการดีไซน์อาหารโดยตนเองจะเป็นผู้เล่าตามโปรแกรม ขณะที่ชุมชนอาจนำสิ่งที่สร้างสรรค์ นำไอเดียไปต่อยอดต่อจากสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต อาจนำไปประยุกต์สร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ทำจำหน่าย หรือสำหรับรับแขกนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชน

“ชุมชนนางเลิ้งจากที่กล่าวมีความโดดเด่นด้านอาหาร การนำเสนออาหารดั้งเดิมของชุมชนในรูปแบบใหม่ ๆ นอกจากช่วยสืบรักษายังเป็นการเพิ่มมูลค่า อย่างเมนูที่ออกแบบสร้างสรรค์ชุมชนอาจนำไปต่อยอดต่อไปได้อีก ทั้งนี้ เมนูอาหารที่นำมาสร้างสรรค์ใส่ดีไซน์นำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ ทุกอย่างจะยังความเป็นชุมชน และมีอยู่ในชุมชน”

อ.สุถี เล่าขยายทิ้งท้ายอีกว่า การดีไซน์จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร อีกส่วนหนึ่งยังสร้างความแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่คุ้นเคย เปลี่ยนเป็นจานใหม่จานพิเศษไม่ธรรมดา แต่อย่างไรแล้วก็ใช่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนทั้งหมด อาจเปลี่ยนรูปเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่ทิ้งความดั้งเดิม หรือในด้านรสชาติก็เช่นกันเป็นการเปลี่ยนที่ต้องมีความลงตัวและมีความกลมกล่อม

ดังนั้น ถ้ามีไอเดียก็ต้องไม่ลืมเรื่องดีไซน์ ทั้งนี้ยังให้ไอเดีย ยกตัวอย่างเพิ่มอย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ นอกจากเสิร์ฟเป็นจานตกแต่งจัดจานมีดีไซน์ อาจทำเป็นคำ โรลเป็นซูชิใส่หมูหวานไว้ด้านในพร้อม ก็เพิ่มความน่าสนใจ สะดุดตา สร้างความแตกต่างจากรูปเดิม ๆ และอีกหลากหลายเมนูที่นำมาใส่ดีไซน์สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร เป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าชุมชน เล่าการสร้างสรรค์การดีไซน์อาหาร.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ