เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณี สภาการพยาบาลทำหนังสือขอให้ อย. ทบทวนการยืดอายุวัคซีนไฟเซอร์จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 มี.ค. 66 เพราะอาจกระทบความปลอดภัยของประชาชนที่รับวัคซีนและกระทบภาพลักษณ์ของผู้ฉีดที่กว่า 80% เป็นพยาบาลว่า สำหรับการขยายอายุการใช้วัคซีนไฟเซอร์จาก 9 เดือน เป็น 15 เดือนนั้น เป็นการพิจารณาจากข้อมูลวิชาการ หากมีการเก็บในอุณหภูมิที่คงที่ -60 องศา โดยเนื้อวัคซีนไม่ปนสิ่งแปลกปลอมหรือสภาพเปลี่ยนไป สามารถนำมาใช้ได้

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะการอาหารและยา

เมื่อถามว่าในกรณีที่มีการแสดงความเห็นว่า วัคซีนที่ขยายอายุจะหมดในวันที่ 30 มี.ค. 66 นี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้รับวัคซีนและภาพลักษณ์ของสภาการพยาบาล เพราะ 80% ของผู้ที่ฉีดวัคซีน คือพยาบาล นพ.ไพศาล กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้ต้องคุยกันด้วยหลักวิชาการ ซึ่งตอนนี้วัคซีนไฟเซอร์ยังไม่พบปัญหาใดๆ ในการใช้งาน แม้ว่าจะมีการยืดอายุออกเป็น 15 เดือน ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีข้อมูลว่าพบปัญหา ก็ขอให้ส่งมาที่ อย.

วันเดียวกันนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากการเก็บตัวอย่างในรอบวันที่ 28 ม.ค.-3 ก.พ. จำนวน 94 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนในประเทศ 87 ราย และต่างชาติ 7 ราย พบส่วนใหญ่เป็นโควิด สายพันธุ์ BA.2.75 82 ราย คิดเป็น 87.2% สายพันธุ์ BA.4/BA.5 8 ราย คิดเป็น 8.5% และสายพันธุ์อื่นที่ไม่ได้แยกตั้งแต่ชั้นต้นอีก 4.3% ส่วนประเด็นโควิด CH.1.1 มีโอกาสหลบภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ตอนนี้เจอใน 67 ประเทศ รวมถึงไทย แต่ไปจับกับเซลล์ไม่ได้มากขณะที่ XBB.1.5 ซึ่งมีเยอะในสหรัฐอเมริกา สามารถหลบภูมิได้น้อยกว่า CH.1.1 แต่จับเซลล์ได้ดีกว่า จึงมีโอกาสน้อยที่ CH.1.1จะเบียดสายพันธุ์ BN.1 ที่เป็นลูกหลานของ BA.2.75 ที่พบมากในไทย.