เมื่อวันที่ 23 มี.ค.นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ซึ่งเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับตั้งแต่วันประกาศฯ หรือ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 จะมีการยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 25561 และยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1.การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้กำหนดภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดการตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เช่น กำหนดอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และหน่วยงานภายในของ กสร., ประสาน สป.ศธ. เพื่อออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการขัาราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กสร. และประสานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) กสร., การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก รวมถึงโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลังทั้งหมด จาก สป.ศธ.ไปขึ้นกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม วิเคราะห์ และเสนอถ่ายโอนเรื่องต่าง ๆ, เร่งรัดให้มีการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดเตรียมกฎหมาย ประกาศกระทรวง ประกาศกรม และระเบียบกรมไว้ เพื่อให้เกิดการจัดทำให้แล้วเสร็จทันตามกรอบของระยะเวลาในแต่ละมาตรา และการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น

“กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญมาก จะทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและศักยภาพของบุคคล ทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษา, ผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในสถานศึกษา, ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร และไม่มีหน่วยงานใดไปดำเนินการ เพื่อให้ได้รับการศึกษาเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสำนักงาน กศน. หรือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในอนาคตจะต้องมีการปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย รวมถึงปรับภารกิจให้ทันการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียนรู้และกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ดิฉันเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วนของคน กศน. และภาคีเครือข่าย จะขับเคลื่อนให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว.