เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง นำหัวหน้าส่วนราชการและสื่อมวลชนรวม 50 คน ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ย้อนรอยตำนานยางพาราไทย โดยเดินทางด้วยรถไฟขบวนรถเร็วที่ 167 สายกรุงเทพฯ-กันตัง ปลายทางสถานีรถไฟ อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีรถไฟให้บริการสุดทางสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปรากฏว่า เมื่อนั่งรถไฟไปได้แค่ 3-4 นาที มาถึงบริเวณจุดตัดทางรถไฟถนนสายคลองน้ำเจ็ด เขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งไม่มีป้อมยามของเจ้าหน้าที่การรถไฟ แต่มีไม้กั้นทางรถไฟแบบอัตโนมัติ

ปรากฏว่า ไม้กั้นรถไฟไม่ทำงาน แต่โชคดีที่คนขับรถไฟขับมาไม่เร็ว ทำให้สามารถหยุดรถได้ทัน โดยมีรถยนต์วิ่งตัดหน้ารถไฟไปอย่างชิลชิล 4-5 คัน ก่อนที่คนขับรถไฟจะตัดสินใจเปิดหวูดรถไฟขอทาง เตือนแบบยาวๆ เพื่อให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์หยุดทั้งสองฝั่ง จนรถไฟสามารถเคลื่อนตัวไปได้ โดยไม่มีเหตุร้ายใดๆ ทำให้ผู้โดยสารบนรถไฟต่างลุ้นระทึกไปตามๆ กัน โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน เพื่อพูดคุยกับการรถไฟฯ ให้ดูแลสัญญาณไม้กั้นทางรถไฟให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

จากนั้นรถไฟขบวนดังกล่าว ก็ขับต่อไปจนถึงสถานีกันตัง จ.ตรัง โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งทุกคนก็ได้กินอาหารรสเด็ดของอำเภอกันตัง นั่นคือก๋วยเตี๋ยวราดหน้าซุปเปอร์ และเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง) ก่อนเดินทางต่อไปยังหอประภาคารริมแม่น้ำตรัง ศูนย์กลางในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์เมืองกันตัง เป็นแหล่งค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และความเป็นมาของเมืองท่าที่สำคัญในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเดินทางไปชมต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ซึ่งนำมาปลูกโดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี บิดาแห่งยางพารา ผู้นำยางพารามาปลูกเป็นครั้งแรกที่ อ.กันตัง จ.ตรัง ก่อนเดินทางไปสักการะศาลหลักเมืองตรัง ศูนย์รวมจิตใจของประชาชน

ด้านนายขจรศักดิ์ กล่าวถึงอัตราค่าโดยสารรถไฟ ตรัง-กันตัง ถูกมากแค่คนละ 5 บาท แต่ได้บรรยากาศของการย้อนรอยสมัยก่อน ที่เราเคยนั่งรถไฟ โดยเน้นนั่งช่วงสั้นๆ ในเวลา 20 นาที จะได้เห็นวิวทิวทัศน์และบรรยากาศของรถไฟสมัยก่อนและสร้างสีสัน ซึ่งถ้ามีเป็นกรุ๊ปทัวร์ หรือมาเป็นกลุ่ม ก็จะสนุกสนานมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ปัดตอบคำถามของสื่อมวลชน เรื่องที่ไม้กั้นรถไฟไม่ทำงาน ซึ่งท่านได้แต่ยิ้ม.