ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้ง สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้รับทุนอุดหนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (สำนักงาน กทปส.) ในโครงการ ส่งเสริมและสนับสนุนแก่เยาวชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่อาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ในการจัดทำรายการตามหลักจริยธรรมและคุณธรรม

โครงการนี้มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการในการศึกษาวิจัยครั้งนี้จำนวน 32,000 ราย เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) และดำเนินการ 3 รูปแบบด้วยกันคือ (1) ศึกษานิเวศสื่อปัจจุบันอย่างรอบด้าน (2) สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนอายุ 18-24 ปีทั่วประเทศ และ (3) พัฒนาหลักสูตรเพื่อฝึกอบรมเยาวชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่อาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์และทดลองฝึกอบรมจริงกับเยาวชนนำร่อง เพื่อให้ได้หลักสูตรการฝึกอบรมที่นำไปขยายผลในวงกว้าง จากนั้นนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เปิด “หลักสูตรก้าวแรก สู่การเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพเพื่อตนเองและส่วนรวม” ในการส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมสำหรับเยาวชนในการใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ ผลประโยชน์ของชุมชน และผลประโยชน์ของตนเองต่อไป ข้อค้นพบ มีอย่างน้อย 3 ประการคือ

1) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเปิดรับและจุดประสงค์การใช้สื่อของเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชน Gen Z พบการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประเด็น คือ (1) อุปกรณ์ที่ใช้ ส่งผลต่อความสามารถในการเคลื่อนที่ระหว่างการใช้ (2) จุดประสงค์การใช้และประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มสื่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับช่วงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงอายุ และสถานะการศึกษา และการทำงาน และ (3) การเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ มาเป็นทั้งผู้รับ ผู้สร้าง และผู้ส่ง

2) การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Mega Shift) ของระบบนิเวศสื่อ ใน 3 ด้าน (1) การเปลี่ยน เป็นสัญญาณดิจิทัล (Media Digitization) (2) การปรับการส่งสัญญาณเป็นระบบอินเทอร์เน็ต (Communication Technology) และ (3) การเปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แบบสองทางที่พร้อมใช้และเข้าถึงได้ตลอดเวลาจากทุกที่ และ 4) การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแบบเรียลไทม์ (Real Time) กว้างขวาง (Globalization) และไร้พรมแดน (Borderless)

จากการสำรวจพบด้วยว่า เยาวชน GEN Z ร้อยละ 42.6 สนใจในการเป็นผู้ผลิตสื่อ โดยเป็นการผลิตเพื่อความบันเทิง/เพื่อการท่องเที่ยว/เพื่อการหารายได้หรือการขายสินค้าออนไลน์/เพื่อการสร้างตัวตนเป็นไอดอล/เพื่อเสนอข้อมูลและข่าวสารประเด็นสำคัญ คือ (1) การเข้าถึงอาชีพวิทยุโทรทัศน์เปิดกว้าง (2) การตรวจสอบแหล่งที่มา ความน่าเชื่อถือได้ หรือข้อเท็จจริง ทำได้ยากขึ้น และ (3) เยาวชนมีสำนึกและรับรู้ว่าทั้ง 8 ปัญหาทางจริยธรรม และ 9 ปัญหาทางมารยาท เป็นปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นจริงในระดับ 4.4 ถึง 4.5 ซึ่งสามารถจัดกลุ่ม และแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ภาษาของการสื่อสาร (2) สาระของการสื่อสาร (3) การเคารพในสิทธิเสรีภาพ และทรัพย์สินทางปัญญาหรือผลงานของผู้อื่น

จากข้อค้นพบข้างต้น สรุปเป็นการเตรียมความพร้อมของเยาวชน 3 ด้าน คือ (1) ความเข้าใจในอิทธิพลของสื่อ (2) ความเข้าใจในกลไกการทำงานของสื่อ และ (3) ความสามารถของเยาวชนเชิงจริยธรรม คุณธรรมและความเป็นมืออาชีพเพื่อความดีส่วนรวมและส่วนตน และนำไปใช้พัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อม ชื่อว่า “หลักสูตรก้าวแรก สู่การเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ” กรอบหลักการเตรียมความพร้อมฯ ประกอบด้วย 3 ภาค คือ ภาค 1 ระบบนิเวศสื่อ (2) ศาสตร์และศิลป์การเล่าเรื่อง และ (3) จรรยาบรรณวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 3 ประการ (1) เตรียมความพร้อมเยาวชนในฐานะผู้ใช้ ผู้ส่งต่อ และผู้สร้าง (2) ความมุ่งหวังให้เยาวชน “รู้ทัน”, “รู้จัก” และ“รอบรู้” และ (3) การเตรียมความพร้อม 3 ด้าน ดังนี้ ปัญญา เรียกว่า Cognitive Capabilities/จริยธรรม เรียกว่า Ethical Capabilities และความรอบรู้ทางด้านเทคโนโลยี

ระยะเวลาการฝึกอบรม ให้ยืดหยุ่น ตามสถานะและความจำเป็น รูปแบบการอบรม ทั้งแบบ Face to Face หรือบนแพลตฟอร์มการจัดการแบบออนไลน์ เช่น MOOC โดยผู้เข้ารับการอบรม สามารถลงทะเบียนได้ทั้งแบบรายบุคคล หรือแบบกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรม ในลักษณะ Incubator การวัดและประเมินผล มี 3 ด้าน คือ (1) ประเมินความสนใจในอาชีพ และจุดประสงค์หรือต้องการ (2) ประเมินสมรรถนะที่จำเป็นในการสื่อสาร และเทคโนโลยี และ (3) ประเมินความเข้าใจ ทัศนคติและการยอมรับในจรรยาบรรณวิชาชีพ

“หลักสูตรก้าวแรก สู่การเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพเพื่อตนเองและส่วนรวม” จึงตอบโจทย์ “การสื่อสารแบบไร้รอยต่อ หรือ Seamless Communication” และพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อมีลักษณะเป็น Connected Generation เพื่อให้เยาวชน มีความสามารถในการประกอบอาชีพด้านสื่อสารมวลชน หรือเป็นนักสร้างสรรค์สาระ (Content Creator)

มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการวางแผน บริหารจัดการและส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมสำหรับเยาวชน เพื่อเป็น “ก้าวต่อไป สู่มาตรฐานวิชาชีพนักสื่อสารมวลชน” 5 ด้านดังนี้

(1) ด้านเยาวชนและความมุ่งหมายของการส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมสำหรับเยาวชน โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายชัดเจน/มุ่งหมายเป็นการพัฒนาสมรรถนะแห่งความสำเร็จ (Knowledge/Skills/Attitude and Ability)

(2) ด้านหลักสูตร เนื้อหา กิจกรรม และสื่อ 4 ประเด็นต่อไปนี้ (1) ตัวหลักสูตร ครอบคลุม (2) เนื้อหาเป็นสากล ประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่ หรือกลุ่มคน (3) เป็น Activity-Based Learning และ (4) ใช้สื่อออนไลน์ในการอบรม

(3) ด้านเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เสนอให้ใช้แพลตฟอร์มการบริหารจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ เช่น MOOC (Massive Open Online Courses) และรูปแบบมีความยืดหยุ่น ทั้งผู้เข้าอบรม และระยะเวลา

(4) ด้านการวัดผลลัพธ์และเครื่องมือ ใช้ 3 วิธี เครื่องมือ ได้แก่ (1) การประเมินตนเองโดยสร้างเครื่องมือ
(2) การประเมินผลการดำเนินงาน โดยใช้แบบสำรวจผู้เข้าร่วมโครงการ และ (3) การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยวิธีการทบทวนวรรณกรรมและผลการสำรวจของหน่วยงานอื่น

(5) ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร 3 ด้าน คือ (1) พัฒนสารที่ต้องการส่งให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย (Prospects) ที่เจาะจง (2) วางแผนและเลือกช่องทางการสื่อสาร แบบเจาะจง และ (3) วัดและประเมินประสิทธิภาพของการสื่อสารเพื่อการปรับปรุงให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ

ทั้งนี้ เสนอให้มีการขยายผลการใช้หลักสูตร ไปยังหน่วยงานอื่น ที่มีการผลิตสื่อและเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านช่องทางของวิทยุโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์

สิ่งที่เห็นว่าสำคัญที่สุด คือการนำหลักสูตรก้าวแรก สู่การเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ และ “ข้อเสนอเพื่อก้าวต่อไป สู่มาตรฐานวิชาชีพนักสื่อสารมวลชน” ไปขยายผลในวงกว้าง เพื่อความดีส่วนรวมและส่วนตน ต่อไป

สำหรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา เป็นผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก การจัดการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโท ความปลอดภัยทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา หลักสูตรปริญญาโทบางรายสาขาวิชา เศรษฐศาสตร์ และสถิตินโยบายสังคม มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท การจัดการนโยบายและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท สังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาตรี รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรี ปรัชญา วิทยาลัยแสงธรรม