เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่ได้เกิดประเด็นถกเถียงกรณีหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกยื่นคำร้องกล่าวหาว่า เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เพราะถือหุ้นของ ITV ซึ่งประกอบกิจการสื่อ อันอาจนำไปสู่การถอดถอนและมีผลกระทบทางกฎหมายหลายประเด็นนั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยมีความเห็น ดังนี้
(1) ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การถือหุ้นไอทีวีเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) จะมีผลทางกฎหมายต่อการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น ได้แก่ ถูกถอดถอนจากการเป็น ส.ส. ของการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะต้องถูกเรียกเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ที่ได้ไปจากการดำรงตำแหน่งคืน แต่จะไม่กระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปก่อนพ้นตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง

(2) นอกจากนี้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลมีลักษณะต้องห้าม มิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเช่น ส.ส. ของปี 2566 และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) อันจะทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส. และนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

(3) ส่วนการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวที่อาจมีผลต่อการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น เห็นว่าการที่บุคคลใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งจะไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกและกิจการที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยสุจริตในขณะดำรงตำแหน่ง เช่น กรณี ส.ส. หรือรัฐมนตรี เป็นต้น ตามนัยของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

ดังนั้น กิจการที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้กระทำไปในฐานะเป็นหัวหน้าพรรค เช่น การลงชื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ถูกกระทบเพราะการขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด “จึงไม่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งใหม่ตามที่หลายฝ่ายมีความวิตกจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย