เมื่อวันที่ 6 ก.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ​กทม. ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยมี คณะผู้บริหาร​ กทม. สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตลาดกระบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ ประตูระบายน้ำลาดกระบัง คลองประเวศบุรีรมย์ จากนั้น ผู้ว่าฯ​ กทม. พร้อมคณะ ลงเรือตรวจการณ์ของสำนักการระบายน้ำ ตรวจระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ ระยะทางประมาณ 5 กม. ขึ้นเรือที่ตลาดหัวตะเข้ ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ตรวจระดับน้ำสี่แยกหัวตะเข้ เป็นจุดตัดของคลองลำปลาทิวคลองหลวงแพ่งของประเวศ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำออกไปสู่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทรา

สืบเนื่องจากในช่วงระหว่างวันที่ 27-29 ส.ค.64 ที่ผ่านมา กทม.มีฝนตกหนักมากกว่า 150 มม. ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกและเขตลาดกระบัง ที่มีฝนตกหนักสะสมรวมสูงสุดถึง 189 มม. ซึ่งในการแก้ไขปัญหาได้มีการดำเนินการเร่งลดระดับน้ำในคลอง และเปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้ระดับน้ำลดลง รวมถึงการจัดเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม พร้อมเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง ต่อมาวันที่ 31 ส.ค.64 ฝนตกที่จุดวัดคลองลำผักชี-โรงเรียนลำผักชี เขตหนองจอก 131.0 มม. และวันที่ 1 ก.ย.64 ได้มีฝนตกที่จุดวัดคลองสิบสอง ตอนถนนประชาสำราญ เขตหนองจอก 82.5 มม. ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองต่างๆ พื้นที่เขตหนองจอกและเขตลาดกระบัง มีระดับเพิ่มขึ้นมาอีก ในเบื้องต้นได้มีการประสานกรมชลประทานเร่งระบายน้ำร่วมกันในพื้นที่รอยต่อของกรุงเทพฯ

และเมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ได้ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ ของกรมชลประทาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและหารือการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ไปลงคลองด่าน ผ่านไปลงคลองชายทะเลโดยสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตรสูบน้ำออกลงทะเลไปสู่อ่าวไทย ส่วนพื้นที่ด้านใน​ กทม.ได้เร่งระบายน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ไปสถานีสูบน้ำพระโขนง แล้วสูบลงคลองพระโขนงไปออกยังแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งเปิดยกบานประตูระบายน้ำลาดกระบัง (คลองประเวศบุรีรมย์) เพิ่มจากเดิม 40 ซม.เพิ่มเป็น 50 ซม. และเปิดประตูระบายน้ำตอนวัดกระทุ่มเสือปลา (คลองประเวศบุรีรมย์) โดยเปิดยกประตูระบายน้ำขึ้น 1.50 ม. และเดินเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำได้ไหลไปเข้าสถานีสูบน้ำพระโขนงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ต่อมาวันที่ 4 ก.ย.64 นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าฯ​ กทม. ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตลาดกระบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งวางแผนสรุปแนวทางร่วมกัน เพื่อชะลอน้ำจากด้านเหนือ ในพื้นที่เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และผลักดันน้ำออกไปทางจังหวัดสมุทรปราการ โดยอาศัยระบบคลองที่มีอยู่ ด้วยการเพิ่มประตูระบายน้ำหรือฝายทางด้านเหนือเพื่อชะลอน้ำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำทางด้านใต้ ซึ่งจะช่วยทำให้การบริหารจัดการน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ยังพบมีน้ำท่วมเป็นช่วงๆ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและเป็นแอ่งของถนนลาดกระบัง ซึ่งการเร่งลดระดับน้ำทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานครและกรมชลประทานในพื้นที่ลาดกระบังได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในช่วง 2-3 วันนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเติมในพื้นที่อีก สถานการณ์น้ำในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองต่างๆ ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนถนนดังกล่าวประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย รวมถึงบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะสามารถอาศัยได้ตามปกติ

สำหรับรายงานค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ (6 กันยายน 2564) ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤติ +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.28 ระดับปกติ ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤติ +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.98 ระดับวิกฤติ และประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับเตือนภัย +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.55 ระดับปกติ

ผู้ว่าฯ​ กทม. กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกในพื้นที่​ กทม. ปริมาณฝนสูงสุด 189 มม. ส่งผลให้ระดับน้ำคลองในพื้นที่กรุงเทพตะวันออกมีระดับสูงขึ้น ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลทางด้านจ.สมุทรปราการไม่ได้ ที่ผ่านมา​ กทม.ได้ปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนเข้ามาอีก ซึ่งระดับน้ำภายนอกสูงกว่าระดับน้ำภายใน 10-20 เซนติเมตร พร้อมกันนี้ได้เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาอีก ระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามผู้บริหาร​ กทม. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำเร่งระบายน้ำในคลองออกสู่ทะเล สำนักงานเขตพื้นที่ให้ความดูแลช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่ง.