เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.โลกออนไลน์ได้เกิดกระแสแชร์ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากที่ได้เผยข้อมูลระบุว่า “เราควรยุติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันโควิด-19 กันแล้วหรือไม่”

คำถามที่ว่า “เรายังควรยุติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster shot) เพื่อป้องกันโควิด-19 หรือไม่” คำตอบชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) และองค์กรด้านสาธารณสุขของจีน รวมทั้งงานวิจัยที่ศูนย์จีโนมฯดำเนินการร่วมกับรพ. รัฐและเอกชนเพื่อศึกษาธรรมชาติของโควิด-19 จากอาสาสมัคร 15,171 คนในเขตพื้นที่ความเสี่ยงสูงในประเทศไทย ตลอด 3 ปีภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บ่งชี้ว่า “ยังมีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง 608” กล่าวคือผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคประจําตัว, และกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะกลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดจะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายมาก ทั้งนี้ในปัจจุบันจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆให้เห็นว่าวิวัฒนาการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมีการชะลอตัวหรือลดลง ยังคงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ร้ายแรงอยู่ตลอดเวลา

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB แบบไม่แสดงอาการ (asymptomatic infection) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอดีตและมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้คนที่แข็งแร็งสุขภาพดีมักจะไม่ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด โดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อโควิดตระกูลโอไมครอน ทำให้หลายคนขณะนี้เลือกไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster vaccine) เนื่องจากไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฉีดสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย หรือจากความกังวลใจในเรื่องผลข้างเคียง แต่อาจกลายเป็นแหล่งรังโรคเคลื่อนที่ของโควิด-19 ได้ ฉะนั้นหากผู้ที่แข็งแร็งสุขภาพดี และไม่ได้ฉีดวัคซีนเมื่อพบปะกับ “ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง” จึงควรพิจารณาป้องกันตนเองมิให้แพร่เชื้อด้วยการใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ

วัคซีนโควิดที่มีใช้ในปัจจุบันมีความชัดเจนว่าด้อยประสิทธิภาพในการป้องกัน “การติดเชื้อ” แต่ก็มีความชัดเจนว่ายังสามารถป้องกัน“การเจ็บป่วยรุนแรง” และป้องกัน “การเสียชีวิต”ได้ดี ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทั้งจีนและสหรัฐยังเร่งผลิตวัคซีนเข็มกระตุ้นออกมาปกป้องพลเมืองของเขาไม่ให้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางให้ทันกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิดในปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า ดังนั้นหากพูดถึงการป้องกันการติดเชื้อโควิดที่ได้ผลดีที่สุดขณะนี้คือ การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ มิใช่การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นประเภท mRNA ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ พบว่าประสิทธิภาพของเข็มกระตุ้นดั้งเดิมซึ่งเป็นโมโนวาเลนต์ใช้สายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นต้นแบบสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงได้ประมาณ 25% ในขณะที่ประสิทธิผลของเข็มกระตุ้นแบบไบวาเลนต์เพิ่มขึ้นเป็น 62% โดยรวมแล้วการฉีดวัคซีนไบวาเลนต์เข็มกระตุ้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงมากกว่า 37% เมื่อเทียบการฉีดวัคซีนโมโนวาเลต์แบบดั้งเดิมที่มีไวรัสอู่ฮั่นเป็นต้นแบบ (โมโน, ไบ, หรือ ไตร มาจากภาษาละติน monos, bis, and tres แปลว่า 1,2, และ3)

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐ อเมริกา (US FDA) ประสานเสียงเสนอให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนมาใช้โอไมครอนสายพันธุ์เดียว XBB เป็นหัวเชื้อหรือต้นแบบในการผลิต “วัคซีนโมโนวาเลนต์” พร้อมแนะนำให้ประเทศต่างๆควรเตรียมตัวเปลี่ยนมาใช้วัคซีน XBB เพื่อให้ทันต่อการป้องกันการติดเชื้อ และทันต่อการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อกลายพันธุ์ในปีหน้า (พ.ศ. 2567) แทนการฉีดวัคซีน 2 สายพันธุ์ (ไวรัสอู่ฮั่น+โอไมครอน BA.4/BA.5) หรือ “วัคซีนไบวาเลนต์” ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในช่วงปีนี้ (พ.ศ. 2566) และเพื่อให้การผลิตวัคซีนถึงประชาชนอเมริกันในเดือน กรกฎาคม 2566 สามบริษัทซึ่งผลิตวัคซีน mRNA และ วัคซีนชิ้นส่วนโปรตีนของโควิด-19 (protein subunit) จึงเลือกใช้โอไมครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ในช่วงฤดูกาล พ.ศ. 2566-2567..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Center for Medical Genomics