เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 10 ก.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า เขตพระนคร) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา มีฝนตกในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งจุดที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 38 มม. ในฝั่งธนบุรี แต่สถานการณ์โดยรวมสามารถควบคุมได้ด้วยดี และคาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ ขณะนี้มีการเตรียมมาตรการรับมือในเบื้องต้นแล้ว ในหลายพื้นที่ก็มีการระบายน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ชาวกรุงอ่วมฝนถล่มแต่เช้า รถติดสาหัส ‘ศรีนครินทร์-บางนา’ มีน้ำท่วมขัง

สำหรับจุดที่มีความกังวลต่อการเกิดน้ำท่วมขังในขณะนี้ ได้แก่ บริเวณแจ้งวัฒนะ หน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส เขตหลักสี่, จุดถนนวิภาวดีรังสิต และบริเวณวงเวียนบางเขน รวมถึงบริเวณราษฎร์บูรณะ ซอย 1 และซอย 2 ด้วย ทั้งนี้ในจุดต่างๆ นี้ ถึงแม้จะมีน้ำท่วมขังแต่ก็สามารถระบายได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น ก็มีบริเวณคลองเปรมประชากร และบริเวณหลักสี่ ดอนเมือง ที่น้ำจะระบายได้ช้าเล็กน้อย

ในขณะที่หลายพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น บริเวณซอยอุดมสุข 101/1 ได้มีปรับเรื่องทิศทางการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น มีการดำเนินการลอกท่อในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในด้านความกังวล เบื้องต้นอาจเป็นการลอกท่อในบางพื้นที่เช่นบริเวณเขตพระโขนง ที่มีการดำเนินการลอกท่อล่าช้ากว่ากำหนดการที่วางไว้ เนื่องจากบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เร่งรัดกระบวนการคาดว่าภายในเดือนหน้าการดำเนินการต่างๆ จะเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ รวมถึงการปรับปรุงเส้นทางระบายน้ำจากคลองตาอูฐ ในเขตดอนเมือง ที่จะไปยังคลองเปรมประชากร ซึ่งจะได้งบประมาณในการปรับปรุง 2567 นี้ ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

นายชัชชาติ ยังกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้จุดเสี่ยงต่างๆ ของกรุงเทพมหานครกว่า 700 จุด ได้ดำเนินการไปแล้ว 500 กว่าจุด และจุดที่ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ก็ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาสถานการณ์แล้ว เชื่อว่าบางจุดก็ยังจะต้องประสบเหตุน้ำท่วมขังอยู่บ้าง เนื่องจากด้านพื้นที่กายภาพที่เป็นที่ลุ่ม หรือจุดต่ำ แต่การระบายน้ำจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุน้ำท่วมตลอดเวลา เนื่องจากบางครั้ง เพียงเศษขยะไม่กี่ชิ้นที่ไปอุดตันการระบายน้ำ ก็อาจทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ขึ้นได้

ทั้งนี้ หากจะต้องเผชิญกับเหตุฝนตกต่อเนื่อง ก็ได้มีการวางระบบให้น้ำฝนไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ ระบายลงสู่คลอง และไปยังอุโมงค์การระบายน้ำ ต้องดำเนินการตามระบบนี้ให้มีความราบรื่นที่สุด โดยในบางจุด เช่น คลองเปรมประชากร ยังคงมีบ้านเรือนของประชาชนทุกครั้งในบริเวณริมคลองอยู่ ส่งผลให้การดำเนินการขุดลอกคลองเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น เนื่องจากอาจทำให้บ้านเรือนเหล่านั้นเกิดการทรุดตัวลงในคลองได้ ซึ่งในระยะยาวก็จะต้องดำเนินการ จัดพื้นที่ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมลำคลอง ให้ขึ้นมาอาศัยในบ้านมั่นคง ซึ่งจะทำให้ทางระบายน้ำในคลองนั้นสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงได้มีการประสานงานกับกรมชลประทาน เพื่อจัดการระบายน้ำในคลองสายต่างๆ ที่ยังคงมีปัญหา ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม.