จากกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยถึงประเด็นการกลับมารับโทษจำคุกของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมระบุขั้นตอนเบื้องต้นเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษของอดีตนายกฯ ว่า “การขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคน แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องอยู่ระหว่างการรับโทษ เมื่อรับโทษแล้ว จึงจะสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรก โดยอดีตนายกฯ จะต้องดำเนินการเขียนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ด้วยเนื้อหาพอสมควร เนื่องจากหากดำเนินการยื่นเรียบร้อยแล้วไม่มีการโปรดเกล้าฯ เจ้าตัวก็จะไม่สามารถยื่นได้อีกภายใน 2 ปี” ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ พบว่า การพระราชทานอภัยโทษถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีแก่ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะที่การพระราชทานอภัยโทษ มี 2 ประเภท คือ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป และการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่ง “การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป” คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อพระมหากษัตริย์ ในกรณีนี้ ทางราชการจะดำเนินการให้ทุกขั้นตอน ผู้ต้องราชทัณฑ์ไม่ต้องดำเนินการใดๆ โดยการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่างๆ เกี่ยวกับสถาบัน อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นความผิดบางลักษณะที่เห็นว่าเป็นภัยสังคมร้ายแรง โดยหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษของนักโทษเด็ดขาดผู้ใดจะได้รับเท่าใด จะกำหนดรายละเอียดในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่ตราขึ้นแต่ละครั้ง แต่มีหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ คือ เกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป, เกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และเกณฑ์ไม่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ขณะที่ “การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย” คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย สำหรับผู้มีสิทธิยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ต้องเป็นผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุด ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา บุตร คู่สมรส หรือสถานทูต (กรณีเป็นนักโทษต่างชาติ) ไม่รวมทนายความ

สำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย มีกรอบเวลาการยื่น แยกเป็นกรณีผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป สามารถยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด แต่หากเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด ส่วนขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย เริ่มจากผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต/จำคุก/กักขัง/ปรับ/ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือกระทรวงยุติธรรม สำนักราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต ทั้งนี้ หลังรับเรื่องแล้วกรมราชทัณฑ์จะส่งเรื่องไปเรือนจำ/ทัณฑสถานเพื่อสอบสวนเรื่องราวก่อนเสนอความเห็นให้รัฐมนตรียุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลฎีกาให้ผู้ยื่นทราบ

การพระราชทานอภัยโทษให้อาจเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมดโดยปล่อยตัว หรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษ หรือลดระยะเวลาต้องโทษ ส่วนในรายที่ไม่มีพระราชทานอภัยโทษจะมีหนังสือแจ้งผลฎีกา เรียกว่า “ยกฎีกา” กรณียกฎีกาแล้วจะยื่นใหม่ไม่ได้จนกว่าจะพ้น 2 ปี นับแต่วันถูกยกครั้งก่อน เมื่อพ้น 2 ปีแล้ว จึงจะยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษครั้งใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 264 (เรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษอย่างอื่นซึ่งมิใช่โทษประหารชีวิต ถ้าถูกยกหนหนึ่งแล้ว จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้น 2 ปี นับแต่วันถูกยกครั้งก่อน)

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีที่ตัดสินแล้วและยังอยู่ในอายุความของนายทักษิณปัจจุบันมี 3 คดี ได้แก่ 1.คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ศาลพิพากษารวมโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา 2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ หวยบนดิน ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และ 3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา.