จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ กองคดีฮั้วประมูลฯ ออกหมายเรียกพยาน 58 บริษัท โดยเคยยื่นซื้อซองใน 2 โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่ โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) และโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564) ซึ่งเป็นโครงการเดียวกับบริษัทของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ผู้ต้องหาในคดีสั่งยิงสารวัตรแบงก์ สามารถประมูล e-bidding ชนะไปได้นั้น โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบพฤติการณ์ส่อฮั้วประมูลจากทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากทั้ง 58 บริษัทได้จ่ายค่าธรรมเนียมซื้อซอง แต่เมื่อถึงวันประมูลเปิดซอง กลับถอนตัวไม่เข้าร่วม ทำให้เป็นเหตุอันน่าสงสัยว่าเป็นการสมยอมราคาโดยกีดกันเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของกำนันนก หรือบริษัททั้งหมดถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการหรือไม่ อีกทั้งเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีบริษัทจำนวน 12 แห่ง ให้ความร่วมมือเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ 20 บริษัทที่จะต้องเข้าให้ปากคำในฐานะพยานในวันที่ 19 ก.ย. ประกอบด้วย 10 บริษัทเคยยื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) ได้แก่ บริษัท ท่าราบก่อสร้าง จำกัด, บริษัท โอ.เอ็น. คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ซีโก้ทรานสปอร์ต จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.เจ.เอ็น.เทรดดิ้ง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาตรศรีจักรกล, บริษัท กษิดิศเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท เจริญกิจ ซี.เค จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจสินเลิศ และ หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง(1984) ส่วนอีก 10 บริษัทเคยยื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564) ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวรรณกิจกำแพงก่อสร้าง, บริษัท โรจนากรพาณิช(1981) จำกัด, บริษัท เอส.โอ.เอ็น.เอ็นจิเนียริ่ง.จำกัด, บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้องเล็กสถาปัตย์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประโยชน์การโยธา, บริษัท กรีนไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด, บริษัท พรรณีวรกิจก่อสร้างและขนส่ง จำกัด และบริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 11.10 น.ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัท กษิดิศ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้เดินออกมาจากห้องกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของภาครัฐ ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เหตุใดจึงถอนตัวไม่เข้าร่วมยื่นประมูลโครงการดังกล่าวในวันที่มีการเปิดซองประมูลโครงการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยตัวแทนบริษัท ระบุว่า ตนไม่ได้ยื่นประมูลและไม่รู้จักกับกำนันนก ส่วนวันนี้เข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ไปหมดแล้ว อีกทั้งในวันนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยได้นำแผ่นกระดาษมาปิดบานหน้าต่างของห้องที่ใช้ในการสอบปากคำพยาน เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนบันทึกภาพพยานขณะสอบปากคำ และให้สื่อมวลชนปักหลักรอที่ด้านนอกห้องเท่านั้น โดย 20 บริษัทที่ถูกเรียกสอบในวันนี้ ต่างทยอยเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้วหลายราย ซึ่งแต่ละรายนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามเข้าไปสอบถามข้อมูลแต่ก็ได้รับการปฏิเสธตอบคำถาม ขณะที่บางรายก็ยืนยันเพียงว่าไม่รู้จักกำนันนก หรือผู้ใหญ่โยชน์ และบริษัทตัวเองก็แค่ไม่ยื่นซองร่วมประมูลเท่านั้น

ขณะที่รายงานข่าว ระบุด้วยว่า พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ได้มีการรายงานความคืบหน้าให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทราบการดำเนินการตรวจสอบของคณะพนักงานสอบสวนเป็นระยะ อีกทั้งพนักงานอัยการที่เชี่ยวชาญกฎหมายท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นด้วยว่า “กำนันนก” หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษทุกประเด็นตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และเมื่อดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กฎหมายบังคับให้พนักงานอัยการมาทำการร่วมสอบสวนกับดีเอสไอตั้งแต่เริ่มต้นคดี ซึ่งจะมีรูปแบบการดำเนินคดีตามมาตรฐานสากลคล้ายกับคดีสำคัญหรือคดีผู้มีอิทธิพลที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

ส่วนการสอบปากคำวันแรกเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) มีบริษัทเข้ามาพบดีเอสไอ จำนวน 12 บริษัท ให้ข้อมูลตามเอกสารที่ปรากฏ ส่วนอีก 8 บริษัท ขอเลื่อนให้เหตุผลว่ากำลังเตรียมเอกสารและเนื้อหารายละเอียดยังไม่ครบ บางรายชี้แจงว่าตัวแทนผู้จัดการบริษัทไม่สะดวกเพราะหมายเรียกกระชั้นชิดเกินไป และอยู่ต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอเน้นย้ำว่าทุกบริษัทที่ได้รับหมายเรียกพยานจะต้องเข้ามาชี้แจงเพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบ หากไม่มาพบตามนัดหมายที่กำหนด โดยไม่แจ้งเหตุหรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น อาจจะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุก 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับในวันที่ 20 ก.ย. จะเหลือเพียง 18 บริษัทที่จะต้องเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน ประกอบด้วย 9 บริษัท ซึ่งเคยยื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) ได้แก่ บริษัท พี เอส ดี คอนสตรัคชั่น 2011 จำกัด, บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด, หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง(1984), หจก.กองมณีก่อสร้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวรรณกิจกำแพงก่อสร้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.ที.ที., ห้างหุ้นส่วนจำกัด วัชรขจร, ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจอนันต์ตะพานหิน ส่วนอีก 9 บริษัท ซึ่งเคยยื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564) ได้แก่ บริษัท ทรายชลทิศ จำกัด, บริษัท โชคดีวิศวภัณฑ์ จำกัด, บริษัท โกศลสถาปัตย์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุดีพร้อม, บริษัท แสงโชคชัย จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมวงศ์การโยธา, บริษัท สมบูรณ์สุข จำกัด, บริษัท สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา จำกัด และบริษัท วนิชชัยก่อสร้าง(1979) จำกัด.