จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชุดคลี่คลายคดีขบวนการลักลอบนำเข้าซากสุกรแช่แข็ง หรือหมูเถื่อน 161 ตู้ (คดีพิเศษที่ 59/2566) นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายเรียกพยานบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทชิปปิ้งเอกชนนำเข้าสินค้าแช่แข็ง บริษัทสายเรือรับจ้างนำเข้าสินค้า เป็นต้น เพื่อเข้าให้ปากคำประกอบสำนวนคดี กระทั่งมีการดำเนินการสอบสวนต่อเนื่อง ผ่านการประสานข้อมูลร่วมกับตัวแทนหน่วยงานภาคี ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงได้มีการประชุมหารือกันเพื่อกำหนดวันที่และเวลา รวมถึงขั้นตอนในการทำลายของกลางในคดี หรือซากสุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ ในพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ ณ สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว ในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้ ตามที่มีการนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า วานนี้ (27 ก.ย.) สำหรับภารกิจทำลายหมูเถื่อนของกลางในคดี กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ได้เชิญตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง เพื่อเตรียมความพร้อม โดยมีกำหนดทำลายของกลางด้วยวิธีการเผา ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ในวันศุกร์ที่ 29 ก.ย.นี้ ซึ่ง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตทำลายหมูเถื่อนเรียบร้อยแล้ว ส่วนกำหนดการพิธีส่งมอบ-รับมอบ และนำตู้สินค้าประเภทซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้า 161 ตู้ ไปทำลาย

โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เป็นประธานในพิธี และนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ มีกำหนดการเบื้องต้น ดังนี้ เวลา 11.30 น. ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน เวลา 12.00 น. หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และแขกผู้มีเกียรติพร้อมเพรียงกันบริเวณหน้างาน เวลา 13.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เวลา 13.05 น. อธิบดีกรมศุลกากร/ผู้แทน กล่าวต้อนรับ เวลา 13.10 น. อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวรายงานส่งมอบตู้สินค้าของกลาง และอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงานรับมอบตู้สินค้าของกลาง เวลา 13.20 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดพิธีส่งมอบ-รับมอบ และนำตู้สินค้าประเภท ซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้า 161 ตู้ไปทำลาย เวลา 13.25 น. อธิบดีกรมศุลกากรมอบป้ายกิมมิกส่งมอบของกลางให้แก่อธิบดีกรมปศุสัตว์ เวลา 13.30 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำพิธีตัดไฟเครื่องทำความเย็นของตู้สินค้าของกลาง เวลา 13.35 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมแขกผู้มีเกียรติ ถ่ายภาพร่วมกัน เวลา 13.45 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เวลา 14.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปยังสำนักชลประทานที่ 9 ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินการขั้นตอนเผาทำลายสินค้าของกลาง เวลา 15.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางถึงพื้นที่เผาทำลายของกลาง จากนั้นทำพิธีตัดซีล เจ้าหน้าที่ขนของกลางเข้าตู้เตาเผาทำลายซากไร้ควัน และเริ่มเผาทำลายของกลาง ก่อนเสร็จสิ้นพิธีในเวลา 16.00 น.

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ กล่าวด้วยว่า วันศุกร์ที่ 29 ก.ย.นี้ จะเริ่ม Kick Off ถือเป็นการฝังกลบสลับกับเตาเผาทำลายที่สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์เอ็กซเรย์ (ขาเข้า) แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ยังคงมีมรสุมแทบทุกวัน ที่ประชุมจึงจัดให้มีการทำลายใน 2 ลักษณะ คือ ใช้เตาเผาสลับกับการเคลื่อนย้ายไปจุดฝังกลบที่จังหวัดสระแก้ว โดยจะเน้นไปที่การเคลื่อนย้ายไปฝังกลบเป็นอันดับแรกถ้าสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม พิธีการทำลายของกลางดังกล่าวในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำลายของกลางครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการทำลายสินค้าลักลอบจำนวนมากถึง 4 ล้านกิโลกรัมหรือ 4,000 ตัน มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นจะเริ่มเผาทำลายครั้งละ 10 ตู้คอนเทเนอร์

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ยังกล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ดีเอสไอพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำหมายค้นศาลอาญาเลขที่ 1165/2566 เข้าตรวจค้น บริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ด จำกัด เลขที่ 143 ม.5 ต.ป่าไก่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี (โรงงานชำแหละเนื้อหมู แช่แข็ง แช่เย็น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี บิดานายธนวัชร์ นิติกาญจนา หรือเสี่ยฟลุ๊ค) ว่า จากการเข้าตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้เอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการของบริษัทฯ ส่วนเอกสารการนำเข้าหมูมาที่บริษัทและส่งออกหมูออกจากบริษัทในห้วงปี 2564-2565 จะมีการนัดหมายส่งมอบภายในวันที่ 20 ต.ค. อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าวดีเอสไอได้สั่งให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับซากสุกรให้กับพนักงานสอบสวนไว้ตรวจสอบเท่านั้น ยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกพยานแก่บุคคลใดในครอบครัวนิติกาญจนา

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจค้นบริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ด จำกัด ของเจ้าหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคดีซากหมูนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทฯ เคยเป็นที่ปรึกษานายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ส่วนคู่สมรส คือ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และการเข้านำหมายเข้าค้นบริษัทฯ ดังกล่าว พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.สุทศธวรรศ อารีย์รัตนะนคร ผอ.กองปฎิบัติการพิเศษ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รอง ผอ.กองการคดีพิเศษภาค และในฐานะเลขานุการคณะพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจค้นบริษัทฯ แห่งนี้ เพื่อพบและยึดสิ่งของและทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ซากสัตว์ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรับ ขนสินค้าระหว่างประเทศคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ สมุดบัญชีธนาคาร ใบถอนเงิน-ฝากเงิน และเอกสารการ โอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น ที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด และเมื่อค้นได้ตามหมายนี้แล้วให้ส่งของกลาง พร้อมบันทึกการค้นและบัญชีสิ่งของ (ถ้ามี) ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ 128 หมู่ที่ 3 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อจัดการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานว่า วานนี้ (27 ก.ย.) นายธนวัชร์ นิติกาญจนา หรือ เสี่ยฟลุ๊ค ประธานสโมสร ราชบุรี เอฟซี บุตรชายนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี ได้เดินทางมายังอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเข้าพบคณะพนักงานสอบสวน เพื่อขอทราบรายละเอียดในการนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้พนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบ โดยขอเตรียมเอกสารต่างๆ ก่อนเข้าชี้แจงคณะพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 ต.ค. โดยคณะพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ตามที่ร้องขอ ส่วนประเด็นที่เจ้าของโรงงานจะต้องให้รายละเอียดทั้งหมดนั้น เนื่องจากจำนวนน้ำหนักหมูที่คณะพนักงานสอบสวนได้รับจากกรมปศุสัตว์ ยังไม่ตรงกับข้อมูลของโรงงานซึ่งมีส่วนต่างกัน.