เมื่อวันที่ 5 ต.ค.รายการโหนกระแสวันนี้ พูดคุยกันต่อในประเด็นเหตุยิงที่ห้างดัง หลังเกิดเหตุมีการถกเถียงกันในหลากหลายแง่มุม โดยมีประเด็นเรื่องการยกเอาเรื่องติดเกมมาเป็นสาเหตุ และประเด็นเรื่องแบลงก์กัน วัสดุเทียมอาวุธปืนที่ดัดแปลงเป็นอาวุธฆ่าคนได้

คุณแทน ชนาธิป รินลา ปัจจุบันเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนกีฬา E-Sports ทีมชาติไทย เผยว่า เกมที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ น่าจะเป็นเกมแนวแบทเทิลรอยัลชื่อดัง ที่เล่นบนมือถือ ซึ่งเกมนี้เป็นหนึ่งในเกมที่ถูกบรรจุลงในการแข่งขันกีฬาระดับโลก แม้แต่การแข่งกีฬา Asian Games ก็ยังมีกีฬา E-Sports บรรจุไว้ในการแข่งขันด้วย

ขณะที่คุณชล อรรถสิทธิ์ อินทรวิชัย อดีตนักข่าวอาชญากรรม และปัจจุบันผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์ มองว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าตกใจที่คนก่อเหตุอายุน้อยมาก แต่ถามว่าเกมเป็นสาเหตุหลักของเคสนี้ไหม ตนมองว่าไม่ใช่ เกมอาจจะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่ดูจากผู้ก่อเหตุเขามีความชื่นชอบในเรื่องปืนอยู่แล้ว ชอบอัปคลิป อัปรูป โชว์การยิงปืน เทคนิคการประกอบ การโหลดกระสุน อะไรต่างๆ อันนี้ต่างหากที่ชัดเจนกว่าเรื่องเกมด้วยซ้ำ

อาจารย์วิทยา มองว่า คนที่เล่นเกมแนวยิงปืน ให้จับมายิงปืนจริงในสนาม ก็ยิงได้ ยิงดัง แต่อาจยิงไม่โดนเป้า หรืออาจเกิดอันตรายกับตัวเอง เพราะปืนจริงมันมีน้ำหนัก มีแรงถีบที่แตกต่างกัน หากพูดตรงๆ ก็ต้องบอกว่า คนที่อยู่หลังคีย์บอร์ดคิดว่าตัวเองแน่มาก แม่นมาก พอมายิงจริงก็ไม่เป็นสับปะรด

เมื่อถามว่า มีโอกาสไหมที่เวลาเราไปเล่นเกม จะไปเจอสังคมที่ Toxic เจอคนที่ดูถูก รือยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงจากคนที่เจอกันในสังคมเกม ทั้งคุณแทนและคุณชล ยืนยันว่ามีโอกาส แต่ก็เหมือนสังคมทั่วไป ไม่เฉพาะเกม ไม่ว่าจะสังคมไหนมันก็มีโอกาสเจอคน Toxic ได้ทั้งนั้น และก็มีโอกาสเจอสังคมที่ดีได้ไม่ต่างกัน

ขณะที่ อ.วิทยา สุขสมโสตร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธปืน เล่าถึงที่มาของแบลงก์กัน คือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่ใช้ในจุดประสงค์ด้านการแสดง การปล่อยตัวนักกีฬา การยิงสลุต กลไกการทำงานคล้ายปืนจริง แต่จะมีกลไกภายในที่ทำให้ไม่มีอะไรวิ่งผ่านลำกล้องออกมา ยิงเสียงดัง ปืนจะสไลด์เวลายิงเหมือนปืน แต่ไม่มีอะไรพุ่งออกมาจากปลายกระบอก ส่วน บีบีกัน มีความต่างกับแบลงก์กัน เพราะเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน เป็นปืนที่ใช้ยิงลูกพลาสติกกลมๆ ออกมา ขับเคลื่อนลูกกระสุนด้วยแก๊สหรือหรือไฟฟ้า กระสุนพลาสติก จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่สูง

เมื่อถามว่าสิ่งไหนที่ใกล้เคียงกับปืนจริงที่สุด ก็คือแบลงก์กัน มันมีความต่างกันก็คือส่วนลำกล้อง แม็กกาซีน และกลไกบางอย่าง ซึ่งของพวกนี้เอาไปดัดแปลงจนกลายเป็นปืนที่ยิงได้เหมือนปืนจริง ราคาถูกกว่า ไม่ต้องขอใบอนุญาต

ข้อจำกัดของแบลงก์กัน คือขนาดของกระสุนที่ใหญ่ที่สุดที่มันใช้ได้ คือ 9 มม.ลูกสั้น เพราะกระสุนที่ใหญ่กว่านี้ มันมีกำลังขับแรงมากทำให้เกิดแรงดันในรังเพลิงเกินกว่าปืนจะรับได้ อาจทำให้ปืนแตก เข้าตาบอด ได้รับบาดเจ็บเอง

เมื่อเราดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธให้กลายเป็นปืนจริง อันนี้จะกลายเป็นปืนเถื่อนทันที อัตราโทษสูงมาก กลายเป็นว่าภาพของเมืองไทยกลายเป็น เมืองไทยหาปืนง่าย

สิ่งที่ อ.วิทยาอยากจะฝาก คือบรรดาพวกทำคลิปยูทูบ สอนวิธีดัดแปลงปืนแบลงก์กัน ดัดแปลงใช้กระสุนจริง แล้วก็เสนอขาย รับจ้างดัดแปลง คนพวกนี้ต้องพูดตรงๆว่า ไร้มนุษยธรรม ไร้สำนึกโดยสิ้นเชิง ณ เวลานี้มันเกิดเหตุที่ห้างดัง มันกระทบต่อประเทศ การท่องเที่ยว ความมั่นคง ความเชื่อมั่น คนเดือดร้อนกันไปหมด

ขณะที่ทนายเดชา มองในเรื่องนี้ว่า คดีเกี่ยวกับเด็ก วัยรุ่น เยาวชน หลากหลายเคส เหตุผลส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคบเพื่อน อย่างในคดีเกี่ยวกับเด็กอาชีวะ มีวัฒนธรรมไหว้ปืน บูชาปืน มีการไหว้ปืนก่อนเอาออกไปยิงคน ยิงเสร็จก็เอากลับมาตั้งไว้บูชา

ถามว่าการไปก่อเหตุแต่ละเคส มันไปโทษเกม ไปโทษเพื่อน โทษอะไร มันก็โทษทั้งหมดไม่ได้ มันเป็นเรื่องลักษณะนิสัยส่วนบุคคลของแต่ละคนมากกว่า อย่างลูกความตนบางคน เป็นลูกหลานของคนมีเงิน บางทีผลการเรียนไม่ดี ถูกกดดัน อะไรต่างๆ นานา พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก มันก็ไปหาที่ระบายออกในการก่อเหตุอาชญากรรม

สิ่งสำคัญคือการไม่มีเวลาให้ลูก พ่อแม่หลายคนอ้างหน้าที่การงานทำให้ไม่มีเวลาให้ลูก การที่พ่อแม่ ครอบครัวไม่มีเวลาดูแลลูก มันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถ้าพ่อแม่เข้าไปในห้องลูก เห็นปืน เห็นกระสุน เห็นเป้ายิง ถ้าพูดคุยทำความเข้าใจกับลูก คุยกับเขา เป็นเพื่อนเขา มันจะเกิดเหตุแบบนี้ไหม

ทนายเดชายังพูดถึงประเด็นเรียกร้องให้แก้กฎหมายในความผิดเกี่ยวกับเด็ก ถามว่าจะแก้กฎหมายกันอย่างเดียว จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มันไม่ถูกต้อง มันจะเกาะกระแส แล้วมาพูดเย้วๆ ว่าแก้กฎหมาย แล้วเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมเขาต้องมาเสียประโยชน์จากการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ทำไมถึงจะเอาเคสนี้เคสเดียวมากระทบสิทธิ์คนอื่น