เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก วันนี้ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ นางนาปอย ป่าแส เป็นโจทก์ฟ้อง กองทัพบก เป็นจำเลย ฐานละเมิด

กรณีวันที่ 17 มี.ค. 2560 นายชัยภูมิ ป่าแส หรือ จะอุ๊ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านบ้านรินหลวงซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขายิงเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุกล่าวอ้างว่าพบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในรถที่ชัยภูมิขับมา และชัยภูมิได้ขัดขืนการจับกุมและควักระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิตคาที่

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่ศาลฎีกาจะเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าพลทหาร ส.ใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัวตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในชั้นไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตาย น่าเชื่อว่าพลทหาร ส.ใช้ปืนยิงเพื่อสกัดไม่ให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีโดยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ต่อชีวิตของผู้ตาย แต่พลทหาร ส.นำอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธสงครามมีอานุภาพร้ายแรงไปใช้ปืนยิงสกัดไม่ให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีโดยตัวเองกำลังวิ่งไล่ตามอยู่นั้น ถือเป็นการกระทำโดยประมาท อันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นพ้องด้วยกับฎีกาของโจทก์เพียงบางส่วน

ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิที่จะได้รับอุปการะตามกฎหมายซึ่งอาจกำหนดให้ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ความสามารถในการประกอบอาชีพของผู้ตายได้ความว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สี่ ทำกิจกรรมต่างๆ มีรายได้และช่วยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ทางผู้ตายมีผลการเรียนระดับดีมากน่าเชื่อว่าหากยังมีชีวิตจะสามารถสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ประกอบกับ ขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุ 45 ปี จำนวนเงินค่าขาดการไร้อุปการะที่โจทก์ขอมา จำนวน 1,952,400 บาท จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้ความแก่โจทก์เป็นเงิน 1,952,400 บาท และที่โจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจ กฎหมายแพ่งมาตรา 446 มิได้ให้สิทธิแก่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมเพื่อความเสียหายทางจิตใจจึงไม่อาจกำหนดให้ได้ ดังนั้นจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 2,072,400 บาทและโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ

ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,072,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มี.ค. 2560 ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.