เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างพบปะกับ อสม.พระนครศรีอยุธยา ที่มาต้อนรับ ระหว่างการประชุมสัญจรผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนการส่งเสริม เพิ่มเด็กไทยเกิดดีมีคุณภาพ Give Birth Great World ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศ ที่มีการเกิดน้อยกว่าการตาย ถ้าไม่ช่วยกัน เราจะเป็นประเทศที่มีปัญหาในการดำรงคงอยู่ การดูแล การสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ จะไม่มีคนทำงาน ในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยอีก 60 ปีข้างหน้า จะมีประชากรแค่ 33 ล้านคน ลดลงครึ่งหนึ่ง ที่น่าตกใจคือจะมีวัยทำงานแค่ 14 ล้านคน อย่างไรก็ตาม อสม. มีส่วนสำคัญในการไปทำความเข้าใจให้ลูกหลานยอมรับในการมีลูก ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องยากมากในยุคนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ปฏิเสธการมีลูก เนื่องจากกังวลเรื่องเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความไม่พร้อมต่างๆ 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทั้งนี้ จะใช้ยุทธศาสตร์การอนามัยเจริญพันธุ์ตามกฎหมาย และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งคณะกรรมการ ที่มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน ทำร่วมกับคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มีหลายหน่วยงานหลายกระทรวงเข้ามาร่วม เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือมหาดไทย เป็นต้น ชุดนี้จะยกร่างแผนว่าจะส่งเสริมการเกิดเป็นวาระแห่งชาติ จะต้องมีคำตอบในการขับเคลื่อนงานลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเกิดมามีคุณภาพดี ดังนั้น การดูแลตั้งแต่ก่อนแต่งงานในวัยเจริญพันธุ์ ก็ต้องดูแลอย่างเข้มข้น ซึ่งมั่นใจว่าในมิติสาธารณสุขนั้นพร้อมเต็มที่ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัย ความมั่นคงต่างๆ มาผสมผสาน พอผลักแผนเข้าไปที่จะประกาศเป็นวาระ ก็จะทำให้นายกฯ และ ครม. เห็นชอบที่จะประกาศ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะมีการประชุมในวันที่ 25 ธ.ค. นี้  

Upset man having problem sitting on the bed after arguing with his girlfriend

“ตรงนี้เป็นแผนเร่งรัด 100 วัน ว่าหากประกาศวาระแห่งชาติ ก็คือสัมฤทธิผลเบื้องต้นในขั้นที่เราขอ Quick Win ก่อน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนค่าเลี้ยงดูเพิ่มตามจำนวนบุตรก็จะเป็นข้อเสนอ ในมุมของมิติการดูแลด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ แต่ละกระทรวงก็จะมีบทบาทหน้าที่ทำเข้ามา แต่อยู่ในรูปคณะกรรมการ เราเน้นมิติสุขภาพ เราดูแลสุขภาพพ่อแม่ เด็กในท้อง คลอดเกิดมาเราคัดกรองทั้งหมด โรคที่เป็นปัญหา 40 โรคด้านพันธุกรรม ถ้าผิดปกติจะได้ดูแลรักษาได้ บางโรคไม่สามารถคลอดได้ ก็ต้องไม่ให้คลอด รวมถึงเรื่องวัคซีนต่างๆ การดูแลเข้าสู่วัยเรียน กำลังผลักดันว่าจะมีสวัสดิการให้เรียนจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ขึ้นกับแผน” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ดว้ยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลผลักดันแน่นอน เพราะร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านมติ ครม. แล้ว เตรียมเข้าสภา รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ส่งเสริมการมีลูกในกลุ่มคนที่มีบุตรยาก และขณะนี้ก็ตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง คืบหน้า 88% แล้ว กำลังดูว่าต้องให้สิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ในส่วนของเทคโนโลยีที่สามารถให้สิทธิได้มากน้อยแค่ไหน ต้องไปดูรายละอียด เป้าหมายเราส่งเสริมการเกิด และความพร้อมด้านบประมาณและด้านอื่นๆ อาจเป็นลักษณะการมีส่วนร่วมในกรณีที่ใช้เทคโนโลยีที่ใช้เงินค่อนข้างสูง หรือส่งเสริมให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เช่น เขตสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี เริ่มให้สิทธิจูงใจผสมเทียมด้วยการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกผู้หญิงฟรี 100 คู่แรก และการผสมในหลอดแก้ว IVF 10 คู่แรกให้ฟรี จากที่มีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท.