เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทุกราย ร่วมกันแก้ไขปัญหา เอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวง ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า ปัญหาเรื่องเอสเอ็มเอส หลอกลวง เว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจาร ลดลง แต่พวกมิจฉาชีพได้เปลี่ยนวิธีการจากการใช้เอสเอ็มเอส เป็นการโทรฯ เข้าโทรศัพท์มือถือ ของประชาชนเพื่อหลอกลวงโดยตรง

โดยอ้างว่าโทรฯ มาจากหน่วยงานภาครัฐ  เช่น บอกว่าประชาชนที่รับสาย ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล 2,000 บาท แล้วขอข้อมูลของประชาชนเพื่อประกอบการรับเงินช่วยเหลือ หรือรัฐบาลประเมินแล้วคุณมีสิทธิได้รับเงินกู้ 200,000 บาท หรือโทรฯ ชวนเล่นพนัน เป็นต้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงกลมิจฉาชีพพวกนี้ และให้ข้อมูลส่วนตัวไปอาจทำให้สูญเสียทรัพย์

ทั้งนี้การที่มิจฉาชีพเปลี่ยนมาใช้วิธีการโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงประชาชนโดยตรงนั้น ทำให้สำนักงานฯ กับโอเปอเรเตอร์ทุกราย สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดได้ชัดเจนเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่มิจฉาชีพใช้สามารถตรวจสอบการลงทะเบียนได้ว่าใครเป็นเจ้าของเบอร์นั้น ถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ให้โทรฯ แจ้ง ร้องเรียนมาที่คอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์ 1200 (โทรฯ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือโทรฯ แจ้งคอลเซ็นเตอร์ของมือถือที่ใช้อยู่ หากมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงของมิจฉาชีพที่โทรฯ เข้ามาหลอกลวงยิ่งเป็นการดี เพื่อที่จะประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเหล่านี้ต่อไป

“ขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ กดลิงก์ที่มากับเอสเอ็มเอส ที่มีข้อความหลอกลวง อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสำคัญไปกับใครง่ายๆ ขอให้ตรวจสอบที่มาหรือต้นสายของโทรศัพท์ที่โทรฯ เข้ามาหลอกลวง อ้างว่าเป็น หน่วยงานของรัฐ ก่อน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ ทำให้สูญเสียทรัพย์” นายไตรรัตน์ กล่าว