เศษใบไม้แห้งนานาชนิดภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล พื้นที่แห่งการเรียนรู้สมุนไพรไทยและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์แห่งนี้ยังนำมาสร้างสรรค์ “กระถาง” เพิ่มมูลค่าให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งแชร์ไอเดียส่งต่อความรู้ให้เยาวชนและชุมชนมีหัวใจสีเขียว อนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสร้างความยั่งยืนให้โลกไปด้วยกัน
นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม “Re-leaf กระถางจากเศษใบไม้” โดยโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กมลชนก สาลี เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ในฐานะแกนนำโครงการ “Re-leaf” ซึ่งนำองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนำมาสร้างสรรค์ประดิษฐ์ กระถางที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ลดขยะใบไม้และการเผากำจัดที่จะทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้นและยังช่วยลดการเร่งปฏิกิริยาที่จะก่อเกิดมลพิษ PM2.5 ที่กำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลกให้ทวีความรุนแรงน้อยลง
จากการทดลองผลิตโดยพัฒนาเทคนิคและวิธีการทำเพื่อให้กระถางจากเศษใบไม้มีความคงทนแข็งแรง กมลชนกเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น Re-leaf ว่า กระถางจากเศษใบไม้ที่เกิดขึ้นมีจุดหมายจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในสวนสิรีรุกขชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบไม้แห้ง จากที่กล่าวนอกจากนำไปทำปุ๋ยโดยนำกลับมาบำรุงต้นไม้ในสวน เราคิดกันต่อว่าถ้าจะมีกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเด็ก ๆ ได้มีผลงานสร้างสรรค์ของตนเองกลับไป กระถางจากเศษใบไม้ก็น่าจะเป็นคำตอบจึงนำมาทดลองสร้างสรรค์ขึ้น
“Re-leaf เป็นเหมือนการนำใบไม้กลับมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า ทั้งเป็นการลดขยะ และยังช่วยลดการใช้กระถางพลาสติก กระถางยังเหมาะกับการใช้เพาะต้นกล้าสามารถปลูกลงดินได้ โดยกระถางจากเศษใบไม้นี้สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ทั้งช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นไม้”
กมลชนกเล่าเพิ่มอีกว่า กระถางที่จัดทำขึ้นในเบื้องต้นทำได้ง่าย ๆ โดยวิธีการทำจะฉีกใบไม้ให้มีขนาดเล็ก ใช้แป้งเปียกเป็นตัวผสานจากนั้นนำไปขึ้นรูปในแม่พิมพ์ ทั้งนี้จากการทำพบว่า ถ้าใช้ใบไม้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการเชื่อมประสานกันจึงทดลองวัสดุอื่น ๆ โดยในชิ้นงานได้ นำกระดาษรียูส ที่มีอยู่ในสำนักงาน นำมาใช้ประโยชน์เป็นอีกส่วนหนึ่งในการจัดการขยะ
กระดาษรียูสที่นำมาใช้จะเลือกที่ไม่มีนํ้าหมึกมาก หลีกเลี่ยงไม่ใช้กระดาษที่มีหมึกเต็มหน้านำมาเป็นแกนกระถางซึ่งก็ให้ผลลัพธ์ที่ดี ผสานเชื่อมต่อติดกันได้ง่ายขึ้นจึงใช้กระดาษ นำมาขึ้นรูป จากนั้นจึงใช้ใบไม้ในชั้นต่อไป หลังจากนั้นนำกระถางไปตากแดดและรอให้แห้งสนิทจึงนำออกจากแม่พิมพ์ โดยที่ผ่านมากระถางจากเศษใบไม้ได้นำมาเป็นกิจกรรมสื่อเรียนรู้ธรรมชาติ ส่งต่อความรู้ให้กับเยาวชนและชุมชน
ส่วนแนวทางการพัฒนา ในก้าวต่อไปของกระถางใบไม้สามารถสร้างสรรค์ดีไซน์รูปทรงกระถางในแบบอื่น ๆ ให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น หรือพัฒนาต่อยอดศึกษาไปที่ใบไม้ โดยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน มีธาตุอาหารที่ต่างกัน อาจเลือกใบไม้ที่ต้องการนำไปปลูกกับต้นไม้ ช่วยเรื่องธาตุอาหาร การเจริญเติบโตของต้นไม้ ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมรายได้ของชุมชน อย่างเช่น ใบหูกวาง ใบมีขนาดใหญ่ ร่วงหล่นมากในสวนฯ โดยหากปล่อยให้ใบไม้ปกคลุมพื้นหญ้าไปทั้งหมด แสงแดดจะส่องไปไม่ถึงส่งผลกระทบกับพืชเล็ก ๆ ต้นหญ้า การนำมาใช้สร้างสรรค์นำมาเป็นวัสดุก็มีความเหมาะสม ฯลฯ ส่งต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการจัดการขยะที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ