เหล่าคณาจารย์ได้มาร่วมกันระดมสมอง เพื่อหาแนวทางพัฒนาหลักสูตรการจัดการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทันสมัยในยุคโลกเดือดของศตวรรษที่ 21

เราเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? จุดที่มวลมนุษยชาติได้แง้มประตูสู่ขุมนรกอเวจี ก็อาจเป็นเพราะหลักสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักสูตรการจัดการ ที่สอนให้ผู้บริหารคิดหาวิธีทำกำไรสูงสุด ขยายตลาดให้มากที่สุด สร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ พร้อมโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนมวลมนุษยชาติเสพติด “บริโภคนิยม” และนี่เองพาเรามาสู่จุดวิกฤติที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้

เมื่อศาสตร์การจัดการกระแสหลักของตะวันตก ที่สอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกเน้นขยายการผลิต เพิ่มการบริโภค และทำกำไรสูงสุด โดยเร่งดัชนีการเติบโต GDP (Gross Domestic Product) ให้มากที่สุด การบริหารแบบนี้เคยทำให้ไทยล้มควํ่าในการเป็นเสือของเอเชีย และอาเซียนทั้งมวลก็ประสบวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 และขยายตัวไปทำลายเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2551และในทางกลับกัน ศาสตร์การจัดการแบบตะวันออกซึ่งเป็นศาสตร์กระแสรอง แต่ก่อนไม่ค่อยมีคนสนใจเรียนมากนัก เช่น “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เน้นการเติบโตตามธรรมชาติตามศักยภาพ สร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีการวัดด้วยดัชนี GNH (Gross National Happiness) ที่เน้นความสุขมวลรวมเป็นเป้าหมาย และการผสมผสานหลักธรรมทางศาสนา
ต่าง ๆ คุณธรรมกับจริยธรรมเข้าไปในศาสตร์ของการจัดการ นี่คือข้อแตกต่างของสองโลก

น่าดีใจที่วิทยาลัยการจัดการของไทยเปลี่ยนไป 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเรียนบริหาร วิชาแรกที่ทำให้ผมตื่นเต้นมากอยากเป็นนักธุรกิจ คือวิชาที่เรียกชื่อเล่น ๆ ว่า ร่มทองคำ (Golder Parachute) ที่ใช้ความมั่งคั่งเป็นแรงจูงใจ วันนี้เหล่าอาจารย์ทั้งหลายบอกว่า วิทยาลัยการจัดการจะมีวิชาแรก ๆ เรื่องความยั่งยืน และการจัดการให้บรรลุเป้าหมาย SDG เหล่าอาจารย์ที่นั่งคุยกันคิดว่า หลักปรัชญเศรษฐกิจพอเพียง คือ แนวทางการจัดการที่พาเราไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ดังนั้นคิดว่าเราต้องสอนเรื่องนี้ให้มาก ต้องร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ที่จัดการ Mindset ผู้เรียนให้ถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจคุณค่าใหม่ และ Value ที่สมดุลพอเพียง รวมถึงมีแนวทางบริหาร Guiding Principles เพื่อจัดการความยั่งยืน

เราเชื่อว่า ศาสตร์แห่งการบริหารด้วยหลักพอเพียง ของคนไทย จะช่วยให้โลกใบนี้ “ยั่งยืน” S4S (Sufficiency for Sustainability) คอยพบกับหลักสูตรใหม่ ๆ ด้านการจัดการที่คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังจะร่วมกันทำ ขอขอบคุณ มูลนิธิชัยพัฒนา ที่ช่วยแนะนำแนวทาง รวมทั้ง Thai Bev และ ทีมงาน SX ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาเพื่อความยั่งยืนนี้.