สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง เสียงประชาชนต่อ งานป้องกันปราบปรามยาเสพติด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปี ขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 2,060 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13–17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 69.5 ระบุสถานการณ์ปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับรุนแรง โดยร้อยละ 12.1 ระบุรุนแรงมากถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 18.4 ระบุไม่มีปัญหา ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามประสบการณ์พบเห็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ลงพื้นที่ชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด พบว่า ในส่วนของการพบเห็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ลงพื้นที่ชุมชนเพิ่มขึ้นในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้แก่ ตำรวจร้อยละ 81.0 ฝ่ายปกครองร้อยละ 68.6 และสาธารณสุขพื้นที่ เช่น รพ.สต. อสม. เป็นต้น ร้อยละ 65.7 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่องานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ พบว่า ในส่วนของความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดเรียงลำดับคือ ตำรวจ ร้อยละ 71.1 ฝ่ายปกครอง ร้อยละ 52.7 และสาธารณสุขพื้นที่ เช่น รพ.สต. อสม. เป็นต้น ร้อยละ 51.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ไม่เคย ในขณะที่ ร้อยละ 28.9 เคยมีส่วนร่วม

รายงานของ ซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า การศึกษาครั้งนี้ได้ดำเนินการในห้วงเวลาต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านงานป้องกันและปราบปราม แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในเสียงของประชาชนยังคงมีความรุนแรงแต่ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของตำรวจมากที่สุดและมีประสบการณ์พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขพื้นที่ เช่น รพ.สต. อสม. เป็นต้น ลงพื้นที่ชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในชุมชนที่พักอาศัย อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืนคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ยังน้อยโดยภาพรวม

จากการลงพื้นที่ชุมชนของคณะทำงานซูเปอร์โพล พบว่า กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอีสานตอนบนหรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีจุดแข็งด้านการมีส่วนรวมของภาคประชาชนที่เข้มแข็งอันเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยทำให้พลังต่อต้านการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ทะลักเข้าประเทศถูกยับยั้งได้จากความร่วมมือของภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เป็นต้น ดังนั้นแนวทางการเสริมสร้างให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพิ่มทวีคูณยิ่งจะกลายเป็นพลังแผ่นดินต่อต้านยาเสพติดได้สำเร็จอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี