เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา จากกรณีที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้เคยแถลงหลังรับตำแหน่งระบุว่า “ฝ่ายนิติบัญญัติของเราถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายบริหาร ตนคิดว่าครั้งนี้ สภาจะต้องฟื้นคืนชีพขึ้นมา ให้มีศักดิ์ศรี ทั้งสมาชิก องค์กร เพราะการทำงานที่ผ่านมา มีขีดจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่น้อยมากและถูกลดลงทุกปี สำนักงานสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ต่างจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง เราจะพยายามรื้อฟื้นและขยายให้ครอบคลุมจังหวัดต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนจังหวัดได้เข้าถึงฝ่ายนิติบัญญัติ”

ล่าสุด แหล่งข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า นายพิเชษฐ์ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะให้มีการตั้งรัฐสภาจังหวัดขึ้นมาอีกทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในช่วงแรกจะเป็นการเช่าอาคารสถานที่ ใช้งบประมาณจังหวัดละ 80,000 บาทต่อเดือน จากนั้นภายใน 2 ปี จะมีการสร้างอาคารรัฐสภา และยังต้องว่าจ้างบุคลากรประมาณจำนวนหนึ่งในการดำเนินการด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะได้เป็นที่นั่งทำงานของ ผู้ช่วย สส. แต่ละจังหวัด รวมถึงเป็นสถานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน

แหล่งข่าวจากรัฐสภา ระบุด้วยว่า การเสนอของนายพิเชษฐ์ ถูก สส. บางส่วนคัดค้าน เนื่องจากมองว่า กระทรวงมหาดไทยก็ตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด กลายเป็นว่า การรับร้องเรื่องราวร้องทุกข์หรือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็จะไปซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงงบประมาณจ้างข้าราชการระดับ ซี 8 ขึ้นไป เพื่อส่งไปประจำแต่ละจังหวัด ถ้า สส. มี สว. ก็ต้องมีอย่างน้อย 20 คนต่อจังหวัด สิ่งที่ตามมาก็คือบ้านพักของข้าราชการที่จะต้องสร้างอีก อย่างต่ำ ๆ ใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้านบาท รวมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารรัฐสภาประจำจังหวัด เป็นเหตุผลที่นายพิเชษฐ์ ต้องการดำเนินการโครงการนี้หรือไม่

“สิ่งที่จะทำตรงนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ งบประมาณจำนวนมากจะหมดไปเพื่ออะไร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร คงต้องชี้แจงถึงกรณีนี้ เพราะประธานหรือรองประธานสภาที่เข้ามาอยู่ไม่กี่ปีก็ออกจากตำแหน่งไป แต่ภาระหนี้สินตรงนี้จะผูกพันสภาไปตลอด ขอให้คิดถึงเรื่องนี้ด้วยว่า เราจะทำไปเพื่อใครกันแน่” แหล่งข่าวจากรัฐสภา ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความพยายามในการเปิดสำนักงานรัฐสภาประจำจังหวัด มีมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ประธานรัฐสภา ในขณะนั้น ได้มีการเปิดโครงการรัฐสภาประจำจังหวัด 24 แห่ง โดยเริ่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย บทบาท อำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา คณะกรรมาธิการฯ ให้คำแนะนำ และสนับสนุนการใช้สิทธิของประชาชน โดยเฉพาะรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมของประชาชนในแต่ละจังหวัดตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และเพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนที่นี่ได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปยังรัฐสภา ที่กรุงเทพฯ

ก่อนที่ในปี 2557 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนั้น และในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) มีมติให้ยุบสำนักงานรัฐสภาจังหวัด 6 จังหวัดนำร่อง (เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี) เพราะไม่ผ่านการประเมินและไม่คุ้มค่ากับงบประมาณและการปฏิบัติงานของบุคลากร

สำหรับยอดค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐสภาจังหวัดทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2556 ถึงวันที่ 14 ส.ค. 2557 พบว่า สูงถึง 50.3 ล้านบาท.