เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่จะเดินหน้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือ โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และการแจกอุปกรณ์เทคโนโลยีประกอบการสอนให้แก่ครูนั้น ขณะนี้การดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงบประมาณปี 2567 และปี 2568 ซึ่งในปี 2567 จะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนของนักเรียนและครู โดยเป็นการใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่ผู้เรียนและครูสามารถดึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านต่างๆ มาใช้ประกอบการสอน หรือคัดลอกเป็นต้นแบบสื่อการเรียนการสอนเป็นของตัวเองได้  และในปีงบประมาณ 2568 จะเริ่มแจกอุปกรณ์การสอนแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อป โดยนำร่องในโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน

โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแจกอุปกรณ์การสอนแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปนั้นเชื่อว่าจะเป็นการช่วยลดภาระงานครู และตอบโจทย์การสอนรูปแบบใหม่ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้หรือคลังเนื้อหาสาระการเรียนการสอนครบทุกวิชา โดยครูผู้สอนสามารถจัดระบบตารางการสอน และตรวจการบ้านผู้เรียนได้ผ่านอุปกรณ์การใช้งานที่แจกให้ อีกทั้งทำให้ครูได้ทราบข้อมูลเด็กรายบุคคลว่ามีจุดอ่อนและจุดเด่นในวิชาไหน เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน โดยการแจกอุปกรณ์เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นระบบเช่าใช้งาน ทั้งนี้เมื่อมีการแจกอุปกรณ์เทคโนโลยีแล้วก็อาจทำให้ค่าไฟโรงเรียนเพิ่มขึ้น เพราะอุปกรณ์ต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่ตลอดเวลา เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งานจึงจำเป็นต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานโดยติดตั้งโซลาร์เซลล์

“เราพบค่าสาธารณูปโภคหมวดค่าไฟสูงมากเป็นภาระของโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยขณะนี้ ศธ.ได้เจรจาความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่เป็นในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีค่าไฟตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะประหยัดค่าไฟได้ถึง 30-35% ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและเล็กกำลังไปหารือกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งกองทุนฯ ยินดีสนับสนุนเงินให้แก่โรงเรียนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องความไม่เชี่ยวชาญของครูและผู้บริหารในเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และจะได้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่าย จึงได้ดำเนินการในรูปแบบจีทูจี หรือการซื้อขายระหว่างกองทุนฯ กับการไฟฟ้านครหลวง และกฟผ.ไปหาผู้รับจ้างในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เอง เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคมากกว่าสถานศึกษา”  นายสิริพงศ์ กล่าว