ที่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 21 ก.พ.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ การบูรณาการความร่วมมือแบบไร้รอยต่อเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในการประชุมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงาน ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือ Pilot Hub of Knowledge on prevention and solution of drug problems : PSDP-HUB โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้การต้อนรับ

โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กรมคุมประพฤติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักกิจการยุติธรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยอง อัยการ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนในหน่วยระดับท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน นักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าหัวข้อปาฐกถานั้น เชื่อมโยงกระทรวงยุติธรรมกับบทบาทของการยึดหลักนิติธรรมในการอำนวยความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ผาสุขแก่ประชาชน เช่นเดียวกับบทบาทของตำรวจ “พวกเราจะไปเป็นพนักงานสอบสวน จะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของกฎหมาย แต่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ”

ในฐานะเป็นศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติที่สูงส่ง เพราะความทรงจำที่ฝั่งใจ คือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสถานที่กล่อมเกลาจิตใจ ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่างๆ ทำให้ตนมาอยู่ในสังคมได้จนถึงวันนี้ แม้ในช่วงรับราชการตำรวจจะโอนย้ายไปเป็นข้าราชพลเรือนในกระทรวงยุติธรรม ทั้งรองอธิบดีดีเอสไอ รองเลขาฯปปส. อธิบดีดีเอสไอ ในระหว่างทำหน้าที่ของตำรวจในบทบาทที่สำคัญก็ตาม สำหรับบทบาทของกระทรวงยุติธรรมกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดว่า ในประเทศไทย เรามีกฎหมายที่ดี ทั้งในด้านการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษา และการฟื้นฟู ซึ่งแต่เดิมคำว่า “ยาเสพติด” หมายรวมถึงผู้เสพกับผู้ค้า

แต่ปัจจุบันการจับกุม แต่ละปีไม่ต่ำกว่าร้อยล้านเม็ด เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว มีการทำสงครามยาเสพติด แต่สิ่งที่ต้องสูญเสีย คือ ชีวิต เสรีภาพ เกิดการพลัดพรากของคนในครอบครัวให้ต้องไปอยู่ในเรือนจำ เป็นหนึ่งโจทย์ที่ต้องศึกษาวิจัย ทั้งนี้ แนวคิดผู้เสพ แยกออกจากผู้ป่วยมีมานานกว่า 20 ปี กระทั่งปี 64 องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดควรเป็นเรื่องของการควบคุม และผู้เสพจึงกลายเป็นผู้ป่วย ขณะที่การเชิงฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด ในส่วนการคุมขังผู้ต้องหาในเรือนจำที่มีจำนวนกว่า 2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดถึง 80 % ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และในส่วนของผู้เสพที่ถูกจับกุมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย กระทั่งศาลมีคำตัดสินให้รอลงอาญา พร้อมสั่งให้คุมประพฤติอีกว่า 4 แสนคน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ในจำนวน 4 แสนคน จะต้องสมัครใจเข้ารับการบำบัด

ตนเคยเข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยตำรวจยูนนาน(Yunnan Police Officer Academy) เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า การเรียนตำรวจที่ยูนนานมีการศึกษาด้านการสืบสวน สอบสวน รวมถึงการรวบรวมข้อมูลของยาเสพติดแต่ละประเภท ทั้งยังมีการประสานความร่วมมือในการสกัดการลำเลียงสารตั้งต้นที่จะนำมาผลิตอีกด้วย จึงเสนอความเห็นไปยังโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ถึงการแทรกเนื้อหาเฉพาะทางด้านยาเสพติด หรือการลงพื้นที่ เพื่อดูงานในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มประสบการณ์ด้านการแก้ปัญหายาเสพติดให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ยินดีในการนำผลการวิจัยศึกษา ของ PSDP-HUB เพื่อนำองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด

หลังจากนั้น พ.ต.อ.ทวี ได้เยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมและยาเสพติด อาคารคณะตำรวจศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำรวจ ห้องสมุดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อนุสรณ์ 122 ปี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และลานปาณะดิษ รวมทั้งเยี่ยมชมการพัฒนาพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โดยขณะที่เดินทางมายังอาคารโภชนาคาร โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปรากฏว่ากลุ่มผู้ปฏิบัติงานในโรงครัวต่างดีใจ และพากันเข้ามาสวมกอดพ.ต.อ.ทวี โดยเฉพา่ะคุณป้าเอมกล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้พบพ.ต.อ.ทวีอีกครั้ง คิดถึงมาก แต่ปกติทุกวันนี้ได้เห็นแต่เฉพาะในจอโทรทัศน์ และในสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่คิดว่าพ.ต.อ.ทวีจะเดินทางกลับมาเยี่ยมถึงโรงครัว โดยกลุ่มคุณป้าเอม และแม่บ้าน โรงครัว รู้จักกับพ.ต.อ.ทวีมานานแล้ว และขอให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่รมว.ยุติธรรมต่อไป”