นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวนิกเกอิ (Nikkei Asia) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า ธนาคารกลาง “ไม่ดันทุรัง (not dogmatic)” เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงในรอบ 10 ปี แต่เรียกร้องให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เป็นลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากอุปสรรคทางการเมืองทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลต้องกระจายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่รองรับการเติบโตที่ช้า”

แรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบติดต่อกัน 4 เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ควบคู่ไปกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการส่งออกที่หดตัว แต่ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 19 ก.พ. หลังจากตัวเลข GDP ที่อ่อนแอได้รับการเปิดเผย โดยเรียกร้องให้ธนาคารกลาง จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉิน ก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไปในวันที่ 10 เม.ย. 67

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วยว่า “เป็นมืออาชีพ” และ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “วิกฤติ” โดยนายเศรษฐา ชี้ให้เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอเพื่อพิสูจน์วิกฤติ เพื่อที่จะได้รับการรับรองทางกฎหมายสำหรับมาตรการกระตุ้นกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต

แต่ทัศนคติของรัฐบาลต่อธนาคารกลาง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ ไม่มีสิทธิได้รับการต่ออายุหลังจากหมดวาระในปี 2568 ซึ่งเขาจะเกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี

“มีความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง ซึ่งยังคงอยู่ตรงนั้นเสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ. มี กนง. 2 ราย ลงมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยผู้ว่าการ ธปท. บอกกับ Nikkei Asia ว่า 2 เสียงของ กนง. “กังวลว่าผลกระทบเชิงโครงสร้างมีความรุนแรงมาก ดังนั้นจึงอาจสมเหตุสมผลที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นกลางใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยืดเยื้อ เช่น จำนวนประชากรและผลิตภาพแรงงานที่ลดลง คณะกรรมการกนง.ยังเห็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังมีการจ้างงานประมาณ 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานไทยและประกอบด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันของ GDP

“สิ่งที่เราได้เห็นคือการทดแทนการนำเข้ามากขึ้นในจีน ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นถึงไม่เพียงแต่ความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขาผลิตสิ่งนี้มากขึ้นด้วยตนเองและไม่นำเข้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า การพักอาศัยระยะสั้นและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยวก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจริงๆ อันเป็นผลจากโควิด

ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา กล่าวว่า เขาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธนาคารกลาง แต่จะพยายามโน้มน้าวธนาคารต่อไปให้เห็นใจผู้ (ประชาชน) ที่กำลังทุกข์ทรมาน ซึ่งในเรื่องนี้นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า “พวกเขา (ประชาชน) กำลังเดือดร้อนเพราะรายได้ไม่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่รู้สึกว่าวิธีที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นคือการใช้มาตรการที่ตรงเป้าหมาย ไม่เหมาะสมที่จะให้เหมือนกันทุกคน

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ตนได้ทราบถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสูงต่อผู้กู้ยืม แต่การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร อาจเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของ GDP

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ส่วนเล็กๆ เลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลานาน มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในการพยายามก่อหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”

อ้างอิง : https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/Bank-of-Thailand-chief-denies-economy-in-crisis-as-PM-urges-rate-cut